คปภ. เข้ม 'สินมั่นคง' ห้ามรับประกัน คุมจ่ายเงินสินไหมให้ลูกค้าทุกราย
คปภ. ควบคุมเข้มห้าม 'สินมั่นคง' รับประกันทุกประเภท คุมต้องจ่ายเงินสินไหมให้ลูกค้าทุกราย เปิดรายละเอียดก่อนศาลล้มละลายกลางยกเลิกแผนฟื้นฟู
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2566 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้บมจ. สินมั่นคงประกันภัย "สินมั่นคง" หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป
- คำสั่งก่อนศาลล้มละลายกลางยกเลิกแผนฟื้นฟู
ตามที่นายทะเบียนได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2565 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2565 ให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) “บริษัท” แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 โดยกำหนดให้บริษัทเพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันและให้มีอัตราส่วนของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 1 ปี แต่บริษัทได้อุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการ คปภ. มีมติยกอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามมติที่ประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ดำเนินการเพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว แต่กลับอาศัยกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 และเมื่อครบระยะเวลา 1 ปี ตามคำสั่ง บริษัทได้ยื่นคำขอขยายระยะเวลาแก้ไขฐานะและการดำเนินการตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวออกไป ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง
ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ซึ่งปรากฏผลการนับคะแนนว่าแผนฟื้นฟูกิจการไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้ แต่ผู้ทำแผนยื่นคำร้องคัดค้านการนับคะแนนการลงมติของเจ้าหนี้กับศาลล้มละลายกลาง ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ตรวจสอบกระบวนการ ขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง ในการลงมติล่วงหน้าของเจ้าหนี้ ปัจจุบันการตรวจสอบได้เสร็จสิ้นแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รายงานผลการตรวจสอบต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว ผลไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความทุกฝ่ายทราบผลคำสั่งตามกฎหมายแล้ว ซึ่งในกรณีที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ คือ “บริษัท” จึงกลับไปเป็นของผู้บริหารของบริษัท และให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป ตามความในมาตรา 90/74 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ทำให้บริษัทสามารถเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทได้ ประกอบกับบริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด บริษัทจึงมีฐานะและการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน อันเป็นไปตามมาตรา 52 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
- คุม "สินมั่นคง" ห้ามขายประกัน และต้องดูแลลูกค้าจ่ายสินไหมทดแทน
คณะกรรมการ คปภ. พิจารณาจากพฤติการณ์และหลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าวโดยละเอียดแล้ว เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน จึงเห็นชอบให้นายทะเบียนใช้อำนาจตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 48/2566 เรื่อง ให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 15 ธ.ค. 2566 การออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวจะช่วยให้สำนักงาน
- ดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
คปภ. สามารถคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนได้อย่างเต็มที่ และตามประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดการจ่ายเงินของบริษัทที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ทำให้สำนักงาน คปภ. สามารถเข้าไปควบคุมการจ่ายเงินต่าง ๆ ของบริษัทได้ทั้งหมด อีกทั้งได้สั่งการไปยังสายตรวจสอบ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สายงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบสาขา/สำนักงานตัวแทนของบริษัท ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบและให้ดำเนินการแจ้งการสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัท/ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยขายกรมธรรม์รายใหม่ในระหว่างการหยุดรับประกันภัย พร้อมทั้ง ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่บริษัทอย่างเต็มพิกัด เพื่อควบคุมให้บริษัทดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท สำนักงาน คปภ. จะตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ หากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดต่อได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th