'วิธีคำนวณภาษี 2567' แบบง่ายๆ 'เสียภาษี' เท่าไร ต้องอ่าน
เปิด 'วิธีคำนวณภาษี 2567' แบบเข้าใจง่ายๆ เงินเดือน - รายได้ เท่านี้ ต้อง เสียภาษี เท่าไร ถ้าไม่อยากพลาด เช็กก่อน 'ยื่นภาษี'
ทุกสิ้นปี ก็จะถึงฤดูกาลสำหรับมนุษย์เงินเดือน ที่ต้องจัดการ คือเรื่อง การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้อง “ยื่นภาษี” เพื่อแสดงรายได้ทั้งปี ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปีที่ผ่านมา ถ้ามีเงินเดือน หรือรายได้เท่านี้ เราจะต้อง “เสียภาษี” เท่าไร พร้อมตรวจสอบ “วิธีคำนวณภาษี 2567” เพื่อเป็นแนวทางในการลดหย่อนภาษี ที่เราเสียไปตลอดปี 2566
วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2566
1. คำนวณหาเงินได้สุทธิ
อย่างแรกต้องคำนวณหาเงินได้สุทธิ เพื่อนำมาใช้ในการคำนวณภาษีก่อน โดยคำนวณจากการนำเงินได้ทั้งปี 2566 มารวมกัน แล้วหักด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ตามสูตร
เงินได้ทั้งปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนค่าลดหย่อนภาษี จะมีอยู่หลายรายการ ที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ แต่ที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ทันทีเลย ก็คือ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และค่าประกันสังคมตามที่จ่ายจริง สูงสุด 9,000 บาท
2. คำนวณภาษีที่ต้องจ่ายแบบขั้นบันได
ต่อมาให้นำเงินได้สุทธิ มาเทียบกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได โดยนำเงินได้สุทธิ คูณกับอัตราภาษีแต่ละขั้น เพื่อหาว่าเราต้องจ่ายภาษีเท่าไร ตามสูตร
ภาษี = (เงินได้สุทธิ - เงินได้สุทธิสูงสุดของขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษี + ภาษีสะสมสูงสุดของขั้นก่อนหน้า
วิธีคำนวณภาษี 2567
ตัวอย่าง นายเอ มีรายได้ทั้งปี 500,000 บาท ไม่มีตัวช่วยลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมเลย จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และค่าลดหย่อนจากประกันสังคม 9,000 บาท จะได้เงินได้สุทธิ 500,000 - 100,000 - 60,000 - 9,000 เท่ากับ 331,000 บาท
จากนั้น นำเงินได้สุทธิไปเทียบอัตราภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งจะอยู่ระหว่างฐาน 300,001 - 500,000 บาท อัตราภาษี 10% ซึ่งทำให้นายเอ ต้องเสียภาษี (331,000 - 300,000) x 10% + 7,500 เท่ากับ 10,600 บาท
จะเห็นได้ว่า นายเอ มีรายได้ทั้งปีสูงถึง 500,000 บาท แต่ถ้าไม่มีตัวช่วยลดหย่อนอื่นๆ เพิ่มเติมเลย จะทำให้นายเอ ต้องเสียภาษีถึง 10,600 บาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มากพอสมควร
จากตัวอย่างข้างต้น มนุษย์เงินเดือน ที่มีเงินเดือน 30,000 บาท, 50,000 บาท และ 100,000 บาท หากไม่มีตัวช่วยลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม จะทำให้เสียภาษี 2,050 บาท, 20,600 บาท และ 122,750 บาท ตามลำดับ
ลดหย่อนภาษี 2566
- ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- คู่สมรส (จดทะเบียนสมรส - ไม่มีรายได้) 60,000 บาท
- บุตร คนละ 30,000 บาท
- ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร หักลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 30,000 บาท โดยพ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และสามารถหักลดหย่อนสำหรับพ่อแม่ของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000บาท
- ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท โดยผู้พิการต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวคนพิการ
- ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกันและการลงทุน
- ประกันสังคมสูงสุด 9,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ของตัวเองและของคู่สมรส ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิต (คุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป) ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และอาจจะลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และสำหรับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ลดหย่อนได้ 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุด 30,000 บาท
- ดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) 100,000 บาท
- ช้อปดีมีคืน 40,000 บาท ใช้สำหรับการซื้อสินค้าในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2566
- เงินบริจาคพรรคการเมือง 10,000 บาท
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา สนับสนุนกีฬา พัฒนาสังคมต่าง ๆ มูลนิธิด้านสาธารณสุข และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
- เงินบริจาคอื่นๆ มูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
สำหรับ การ ยื่นภาษีออนไลน์ 2566 กรมสรรพากร กำหนดให้ยื่นภาษี ภายในวันที่ 10 เม.ย. 2567