ข่าว

'กมธ.แรงงาน' เสนอ 'รื้อสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ' แนะใช้ 'บอร์ดพหุภาคี' แทน

'กมธ.แรงงาน' เสนอ 'รื้อสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ' แนะใช้ 'บอร์ดพหุภาคี' แทน

22 ธ.ค. 2566

สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธาน กมธ.แรงงาน เสนอ ‘รื้อสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ’ แนะใช้บอร์ดพหุภาคี แก้ปัญหาค่าจ้าง ชงตั้งสภาแรงงานจังหวัด

ปรับค่าแรงขั้นต่ำ หวังเป็นของขวัญปีใหม่2567 ให้กับแรงงานไทย ส่อไปไม่ถึงฝั่งฝัน เมื่อมติคณะกรรมการค่าจ้าง ถึง 2 ครั้งที่มีมติเห็นต่างจากนโยบายรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการปรับขึ้นเป็น 400บาทต่อวัน แต่ บอร์ดไตรภาคี มีมติยืนฐานการปรับค่าจ้างตามเดิม คือระหว่าง 2-16 บาท  เท่านั้น

 

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร(กมธ.แรงงาน) เปิดเผยว่า มติบอร์ดไตรภาคี เห็นชอบปรับค่าแรงขั้นต่ำ ระหว่าง 2-16 บาท ถึงสองครั้ง ที่เกิดปัญหาดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายการคำนวณค่าแรงของไตรภาคีล้าสมัย ทำให้สูตรการคิดคำนวณหาค่าแรง จำเป็นจะต้องมีการแก้ไข 

 

เช่น ในกรณีของพื้นที่จังหวัดปัตตานีนั้น ที่จริงจะต้องปรับลด 1 บาทไม่ใช่ปรับเพิ่ม 2 บาท แต่เนื่องจากจังหวัดนราธิวาส และยะลา ได้ปรับ 2 บาท จึงทำให้ปรับจังหวัดปัตตานีด้วย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

 

ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน ยังระบุอีกว่า ในอดีตกระทรวงแรงงาน เป็นกรมแรงงานในกระทรวงมหาดไทย(มท.) กฎหมายจึงตามไม่ทัน ทำให้เกิดความขัดแย้งในอำนาจรัฐมนตรี และปลัดกระทรวง รวมถึงอธิบดี และตัวแทนไตรภาคีจากฝั่งนายจ้าง เป็นนายจ้างที่บางครั้ง เป็นลูกจ้างที่นายจ้างมอบหมายมา จึงทำให้เป็นการทำงานตามคำสั่งนายจ้าง 

 

 

“ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น บารมีตัวแทนนายจ้าง ยังเหนือกว่าลูกจ้าง จึงเสนอว่า ให้มีการเปลี่ยนระบบไตรภาคี เป็นพหุภาคี หรือรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงการจัดตั้งสภาแรงงานจังหวัด”

 

ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน ยังเห็นว่า เรื่องดังกล่าว จำเป็นจะต้องพิจารณาบริบทอีกหลายมุมว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรจะเป็นค่าแรงที่เป็นธรรมหรือไม่ และการขึ้นค่าแรงแต่ละครั้ง ผลลัพธ์ที่ได้ประโยชน์กับแรงงานไทยน้อย เพราะแรงงานไทย ที่ได้รับปรับขึ้น 2-16 บาท แต่ใหญ่แรงงานต่างชาติได้ประโยชน์ ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องยกระดับฝีมือแรงงานไทย และให้ได้รับใบรับรองด้วย

 

 

ส่วนกรรมาธิการจะมีการเสนอรัฐบาลปรับเกณฑ์การขึ้นค่าแรง ทั้งสูตรการคำนวณ และองค์ประกอบบอร์ดไตรภาคีอย่างไรนั้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน ชี้แจงว่า กรรมาธิการ ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาแล้ว ทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการบริหารระบบ กฎหมาย การจัดตั้งแรงงานจังหวัด เพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาดำเนินการต่อไป