ข่าว

สรุปไทม์ไลน์ 'รถไฟฟ้าสายสีชมพู' รางนำไฟฟ้า ขัดข้อง ไม่ใช่ครั้งแรก

สรุปไทม์ไลน์ 'รถไฟฟ้าสายสีชมพู' รางนำไฟฟ้า ขัดข้อง ไม่ใช่ครั้งแรก

24 ธ.ค. 2566

สรุปไทม์ไลน์ 'รถไฟฟ้าสายสีชมพู' เมื่อเหตุ รางนำไฟฟ้า ขัดข้อง ไม่ใช่ครั้งแรก ประชาชน ถามหาความปลอดภัย หรือจะกลายเป็น ฝันสลาย สายสีชมพู

เหตุราง “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” ร่วงตกใส่รถได้รับความเสียหายหลายคัน ในช่วงเช้ามืด 24 ธ.ค. 2566 สร้างความอกสั่นขวัญแขวน ให้กับประชาชนผู้สัญจรไปมา ต้องถามหาความปลอดภัย หาก ณ เวลานั้น มีประชาชนอยู่บนขบวนรถไฟฟ้า จะเป็นเช่นไร “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” หรือ เจ้านมเย็น เพิ่งเปิดการทดลองเดินรถได้เพียง 1 เดือน และจะเริ่มเปิดใช้บริการจริงอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. 2567 แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะกลายเป็น “ฝันสลาย สายสีชมพู” หรือไม่

รถไฟฟ้าสายสีชมพู

“รถไฟฟ้าสายสีชมพู” เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนรอง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งเหนือ ตลอดจนถึงพื้นที่ของ จ.นนทบุรี มีบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ โดยได้รับสัญญาสัมปทานจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินการในรูปแบบรถไฟฟ้ายกระดับแบบรางเดี่ยว หรือ โมโนเรล เริ่มก่อสร้างปี 2559 ก่อนหยุดการก่อสร้างไประยะหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563–2564

 

 

ปัจจุบัน รถไฟฟ้าสายนี้ มีระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม จากนั้น วิ่งขึ้นไปทางแยกปากเกร็ด แล้วเบี่ยงไปทางทิศตะวันออก ผ่านสถานีเมืองทองธานี แนวเส้นทางจะถูกแยกออกเป็นสองสาย โดยถือเป็นระบบขนส่งมวลชนทางรางสายแรกในประเทศไทย ที่มีเส้นทางสายสาขา (branch line) ให้บริการ

รถไฟฟ้าสายสีชมพู

สายหนึ่งมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ตามแนวถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทรา จนถึงสถานีตลาดมีนบุรี แนวเส้นทางจะเบี่ยงลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อไปสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีมีนบุรี ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม อีกสายหนึ่ง จะวิ่งย้อนกลับไปทางแยกปากเกร็ด ก่อนเบี่ยงเข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 เพื่อเข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองทองธานี อันเป็นชุมชนหนาแน่น และสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีทะเลสาบเมืองทองธานี บริเวณภายในศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเส้นอื่นๆ จำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับสายฉลองรัชธรรม สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับสายธานีรัถยา สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับสายสุขุมวิท และสถานีมีนบุรี เชื่อมต่อกับสายสีส้ม

รถไฟฟ้าสายสีชมพู

 

รูปแบบของ รถไฟฟ้าสายสีชมพู

 

เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว แบบวางคร่อมราง (straddle-beam monorail) ทางวิ่ง ยกระดับที่ความสูง 17-20 เมตร โดยเฉลี่ยตลอดทั้งโครงการ ยกเว้นช่วงสถานีศรีรัช สถานีหลักสี่ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และสถานีมีนบุรี ยกสูง 5 เมตร และช่วงข้ามทางพิเศษฉลองรัชยกสูง 27 เมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงที่สูงสุดของโครงการ ส่วนคานรองรับทางวิ่ง (Guideway Beam) เป็นคอนกรีตหล่อสำเร็จ ควบคู่กับการใช้เหล็กหล่อในบางช่วง มีความกว้าง 69 เซนติเมตร สูง 2 เมตร มีรางที่ 3 ตีขนานไปกับรางวิ่งสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับตัวรถ

 

 

การรอคอยของประชาชนย่านมีนบุรี-เมืองนนท์ ที่จะได้ใช้งาน “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 เพราะได้เริ่มเปิดให้สาธารณชนทดลองใช้งานฟรี ก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ แบบเก็บค่าโดยสาร ในวันที่ 3 ม.ค. 2567 เรียกได้ว่าผ่านการทดลองใช้ไปเพียง 1 เดือน ก็ทำนิวไฮ มีผู้โดยสารใช้บริการทะลุ 1 แสนคน เป็นครั้งแรก หนุนยอดใช้ระบบรางทุบสถิติเฉียด 2 ล้านคน

รางรถไฟฟ้าสายสีชมพูหล่น

แต่ช่วงเช้ามืด 24 ธ.ค. 2566 ก็เรียกได้ว่า แทบจะอวสาน ฝันสลาย สายสีชมพู กันเลยทีเดียว เมื่อเกิดเหตุรางรถไฟฟ้า ร่วงหล่นลงมา เป็นระยะทางยาว 3 กิโลเมตร ทับรถยนต์ได้รับความเสียหายหลายคัน ดัน #รถไฟฟ้าสายสีชมพู ขึ้นเทรนด์ X (ทวิตเตอร์) ทันที ประชาชนถามหาความปลอดภัย

 

 

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) ตรวจสอบสาเหตุเบื้องต้นพบว่า เป็นเหตุรางนำไฟฟ้า(Conductor rail)  ที่เป็นตัวจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับรถไฟฟ้าสายสีชมพู หลุดร่วงจากทางวิ่งลงชั้นพื้นถนน ซึ่งไม่ใช่รางรถไฟฟ้า ส่งผลกระทบต่อการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึง สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) ไม่สามารถเปิดให้บริการได้

รางรถไฟฟ้าสายสีชมพูร่วงหล่น

 

นับตั้งแต่การเปิดทดลองการเดินรถมา รถไฟฟ้าสีชมพูขัดข้องในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกขัดข้องเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2566 ด้วยสาเหตุรางนำไฟฟ้ามีปัญหาที่สถานีหลักสี่ ฝั่งมุ่งหน้าปลายทางมีนบุรี แก้ไขใช้เวลารวม 17 นาที โดยรางนำไฟฟ้านี้ เคยเป็นสาเหตุที่ทำให้รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ขัดข้องมาแล้วในช่วงทดลองเปิดบริการเช่นกัน

 

 

ความปลอดภัยในชีวิตอยู่ไหน? เป็นคำถามที่เกิดขึ้นจากประชาชน แม้ข้อเท็จจริง รางที่ร่วงหล่นลงมา จะเป็น รางนำไฟฟ้า ไม่ใช่ รางรถไฟฟ้า ที่เกิดจากระบบขัดข้องก็ตาม แต่หลายอย่างสะท้อนถึงความบกพร่อง ที่อาจเอาชีวิตประชาชนเป็นเดิมพันหรือไม่