คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ไฟเขียวร่าง แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ
รองนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุม คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานสำคัญ ไฟเขียว (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำปีงบประมาณ 2568 มั่นใจหากดำเนินการแล้วเสร็จ ครบทุกแผน จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 6.8 ล้านไร่ เอื้อประชาชน 4.9 ล้านครัวเรือน
ที่ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2566 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า การประชุมวันนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการดำเนินงานในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาด้านน้ำในระยะยาว ให้สามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จำนวน 57,393 รายการ จาก 24 หน่วยงาน จาก 8 กระทรวง 76 จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2,102 แห่ง กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
ซึ่ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้ตรวจสอบกลั่นกรองจากจำนวนแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำฯ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอผ่านระบบ Thai Water Plan โดยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถเพิ่มความจุในการกักเก็บน้ำได้ 1,352 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พื้นที่รับประโยชน์ 6.8 ล้านไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 4.9 ล้านครัวเรือน และพื้นที่ได้รับการป้องกัน 5.7 ล้านไร่ พร้อมมอบหมายให้ สทนช. เสนอต่อคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการฯ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค (พ.ศ. 2566 – 2580) ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ 13 แผนงาน ดังนี้ กลยุทธ์ที่ 1 บำรุงรักษาและซ่อมแซมระบบประปา มีเป้าหมายในการบำรุงรักษาระบบประปาทั้งหมด ซ่อมแซมระบบประปาที่ชำรุดให้พร้อมใช้งาน 6,189 แห่ง ลดการสูญเสียน้ำในระบบท่อของการประปานครหลวง (กปน.) 20% และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 25%
กลยุทธ์ที่ 2 การพัฒนา ขยายเขตระบบประปา เพิ่มประสิทธิภาพประปา และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน มีเป้าหมายในการก่อสร้างประปาใหม่หรือทดแทนประปาเดิม 9,825 แห่ง ขยายกำลังผลิตน้ำประปาของ กปภ. และ กปน. รวม 2.5 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ขยายเขตประปาได้ 1.6 ล้านครัวเรือน ปรับปรุงประปาให้เป็นประปาน้ำสะอาด 19,106 แห่ง จัดหาแหล่งน้ำต้นทุน 1,728 แห่ง ก่อสร้างระบบประปา ขุดเจาะบ่อบาดาล ในพื้นที่หาน้ำยากและพื้นที่สูง 1,167 โครงการ
กลยุทธ์ที่ 3 ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภคให้ได้มาตรฐาน โดยกำหนดเป้าหมายที่จะตรวจคุณภาพแหล่งน้ำธรรมชาติ 9,000 ตัวอย่างต่อปี ตรวจคุณภาพน้ำประปา 7,773 แห่ง อปท.69,914 แห่ง กปน./กปภ.236 สาขา และ กลยุทธ์ที่ 4 การบริหารจัดการ โดยมีเป้าหมายในการอบรมเสริมสร้าง พัฒนาองค์ความรู้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรรมการบริหารกิจการประปา ปีละ 2,000 คน สร้างการรับรู้ รณรงค์ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และประชาสัมพันธ์เรื่องน้ำสะอาดให้ประชาชนทั่วประเทศ ส่งเสริมการประหยัดน้ำทุกภาคส่วน รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลประปาหมู่บ้าน ตลอดจนศึกษา สำรวจ ออกแบบ งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม แหล่งน้ำประปาและระบบประปา
สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2566
"ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ เพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1.การผันน้ำลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน-เจ้าพระยา 2.การผันน้ำลุ่มน้ำป่าสัก–เจ้าพระยาและ 3.การผันน้ำลุ่มน้ำบางปะกง–ชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยกำหนดเงื่อนไขการดำเนินงานไว้ว่า จะต้องมีปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการใช้น้ำภายในลุ่มน้ำก่อน และปริมาณน้ำที่ผันไปนั้นจะต้องเป็นปริมาณส่วนที่เหลือหรือส่วนเกินความต้องการภายในลุ่มน้ำ ทั้งนี้ ในการผันน้ำ ให้พิจารณาถึงความจำเป็นพื้นฐานในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และประโยชน์ที่จะพึงเกิดต่อส่วนรวมเป็นลำดับแรก" รองนายกรัฐมนตรี ระบุ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำในหลายภาคของประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงฤดูแล้ง ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและดำเนินการตาม 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 รวมทั้งปฏิบัติตามแผนจัดสรรน้ำในฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด ซึ่งปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะเพียงพอกับความต้องการใช้ในทุกภาคส่วนในช่วงฤดูแล้ง และมีสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2567 หากเกิดภาวะฝนมาล่าช้าหรือฝนทิ้งช่วงอย่างแน่นอน
ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งขณะนี้มีฝนตกหนัก โดยเฉพาะพื้นที่ตอนล่างและฝั่งตะวันออก ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และดำเนินงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน 2566 อย่างเคร่งครัดเช่นกัน พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการทั้งหมดให้ สทนช. รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างทันท่วงที และให้คณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด นำมาตรการดังกล่าวไปขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม
"รองนายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งรัดติดตามความก้าวหน้า ผลการพิจารณาการจ่ายเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายจากการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนอง ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาจากกระทรวงการคลัง และนำเสนอ กนช. ในประชุมครั้งต่อไป เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งกำชับให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเร่งจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบูรณาการการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนกำหนดแนวทางในการส่งเสริมองค์กรผู้ใช้น้ำ ภาคเอกชน ประชาชน และชุมชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำด้วย " ดร.สุรสีห์ กล่าว
สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2566 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล