ข่าว

บอร์ด PPP เห็นชอบ โครงการท่าเรือ B3 B4 B5 ท่าเรือแหลมฉบัง มูลค่า1.8 หมื่นล้าน

บอร์ด PPP เห็นชอบ โครงการท่าเรือ B3 B4 B5 ท่าเรือแหลมฉบัง มูลค่า1.8 หมื่นล้าน

16 ก.พ. 2567

คณะกรรมการ PPP เห็นชอบ โครงการท่าเรือ B3 B4 B5 ท่าเรือแหลมฉบัง มูลค่าลงทุน 1.8 หมื่นล้านบาท และปรับปรุงแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน ปี 2563 - 2570 มูลค่าลงทุนรวม 1.19 ล้านล้านบาท

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมาย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รองประธานกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

คณะกรรมการ PPP เห็นชอบหลักการโครงการร่วมลงทุนท่าเทียบเรือ บี3 บี4 และ บี5 ท่าเรือแหลมฉบังของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน บริหาร และประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้า มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 18,382 ล้านบาท ในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุน อุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยียกขนสินค้า 

 

 

รวมทั้งรับความเสี่ยงด้านรายได้ของโครงการ โดยมีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับภาครัฐ ในขณะที่ภาครัฐจะกำกับดูแลคุณภาพการดำเนินงานของเอกชนให้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา ทั้งนี้ โครงการตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือแหลมฉบังในภาพรวม อันจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งโลจิสติกส์และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ยังได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 - 2570 (แผนร่วมลงทุนฯ) เพื่อให้สอดคล้องกับความพร้อมของแต่ละโครงการและเป็นปัจจุบัน โดยมีรายการโครงการที่ประสงค์จะดำเนินการในรูปแบบ PPP รวม 135 โครงการ มูลค่ารวม 1.19 ล้านล้านบาท (ปรับเพิ่มขึ้นจากแผนร่วมลงทุนฯ ฉบับเดิม ซึ่งมีจำนวน 127 โครงการ มูลค่ารวม 1.17 ล้านล้านบาท) 

 

 

ทั้งนี้ แผนร่วมลงทุนฯ จะเป็นกรอบทิศทางการจัดทำโครงการPPP ที่ชัดเจน และจะช่วยสร้างความสนใจและดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐมากขึ้น อีกทั้ง คณะกรรมการ PPP ยังได้เร่งรัดโครงการร่วมลงทุนต่างๆ ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงหรือกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ทั้งโครงการในระบบราง โครงการทางถนน และโครงการเชิงสังคม ให้สามารถเปิดให้บริการได้โดยเร็วเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงเพื่อให้มีบริการสาธารณะและระบบการขนส่งคมนาคมที่สะดวกและรวดเร็ว