เฉลยแล้ว ทำไม 'เงินดิจิทัลวอลเล็ต' 10,000 บ. ไม่โอนเข้าบัญชี - จ่ายเป็นเงินสด
เฉลยแล้ว ทำไม 'เงินดิจิทัลวอลเล็ต' 10,000 บาท ไม่โอนเข้าบัญชีธนาคาร หรือ จ่ายเป็นเงินสด คลังตอบชัดเพราะสาเหตุนี้
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะ application LINE ว่ารัฐบาลจะดำเนินการโครงการเติมเงิน 10000 บาท ผ่าน Digital wallet ให้ประชาชนด้วย "เงินดิจิทัล" สกุลเงิน Token โดยตนขอให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้
1 ทำไมไม่โอนเงินเข้าบัญชีของทุกคนโดยตรงเลย ? เพื่อให้ง่าย และไม่โดนกล่าวหาว่ามีวาระซ้อนเร้น
ข้อเท็จจริง : วัตถุประสงค์หลักของโครงการคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น แม้การแจกเงินสดจะสะดวก และง่ายต่อการดำเนินการ แต่ก็มีข้อเสียที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือ การแจกเป็นเงินสดจะสุ่มเสี่ยงที่จะมีประชาชนบางส่วนนำไปเก็บออม โดยไม่ได้เอาไปจับจ่ายใช้สอย ซึ่งไม่ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ
2 หากมีการแจกจ่ายผ่านสกุล "เงินดิจิทัล" Token ใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์
ข้อเท็จจริง : โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ ซึ่งเป็นการดำเนินงานจัดทำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีการจัดทำ Token แต่อย่างใด
3 มีการตั้งคำถามว่า เหตุใดต้องแจกเงินในโครงการเติมเงิน 10000 บาทผ่าน Digital wallet ด้วย "เงินดิจิทัล"
ข้อเท็จจริง : ประเด็นดังกล่าวน่าจะเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการเติมเงินในโครงการดังกล่าวไม่สามารถอยู่ในรูปเงินดิจิทัลตามที่อ้างได้ เพราะขัดต่อกฏหมายว่าด้วยเงินตรา
ล่าสุด 10 เม.ย.2567 คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท "เงินดิจิทัล 10000" ผ่าน Digital Wallet (คณะกรรมการฯ) ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ได้เห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ "เงินดิจิทัล 10000" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ
ใครได้รับสิทธิ "เงินดิจิทัล 10000" บ้าง ?
- คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป
- รายได้ต่ำกว่า 70,000 บาทต่อเดือน หรือ ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี
- เงินฝากในบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท
เงื่อนไขการใช้จ่าย "เงินดิจิทัล 10,000"
- ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
- ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้าการใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
- ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
- คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
- การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาลจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย
- ช่วงเวลาการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567