กรมส่งเสริมการเกษตรเชื่อมั่นปีนี้ ‘ทุเรียน’ สร้างรายได้กว่าแสนล้านบาท
วันนี้จะพาไปดูการเดินหน้าดูแลผลผลิตของพี่น้องเกษตรกรไทย โดยเฉพาะผลผลิตพื้นที่ภาคตะวันออก ที่ตอนนี้ได้ออกมาเรียบร้อยแล้วอย่าง "ทุเรียน"
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ยืนยันว่า ผลไม้ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ "ทุเรียน" ปีนี้ยังคงเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพสูง เป็นที่ยอมรับทั้งของผู้บริโภคภายในประเทศและตลาดสส่งออก จากการบริหารจัดการตั้งแต่ในสวนทุเรียน ที่เกษตรกรต้องได้รับรองมาตรฐาน GAP และการสร้างนักคัดนักตัด ซึ่งได้รับการอบรมจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงมีมาตรการตรวจก่อนตัดที่เข้มงวด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทุเรียนมีความสุกพอดีตามเกณฑ์ก่อนออกสู่ตลาด
นอกจากนี้ปีที่ผ่านมาประเทศเวียดนามถือเป็นคู่แข่งขันที่ตีตื้นตลาดทุเรียนขึ้นมาพอสมควร แต่กรมส่งเสริมการเกษตรก็ยังเชื่อมั่นใน "ทุเรียน" ไทยสามารถเอาชนะใจผู้บริโภคชาวจีนได้เหมือนที่ผ่านๆ มา จากคุณภาพมาตรฐานที่เสมอต้นเสมอปลาย
ปี 2567 ช่วงฤดูกาล "ทุเรียน" จะออกผล สิ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการ คือ การตรวจเน้นคุณภาพของทุเรียนไทย ให้มีความน่าเชื่อถือและเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค จึงจะสามารถออกสู่ตลาดได้ และเชื่อว่าปีนี้ยอดการส่งออกและรายได้จะเติบโตตามตลาดจีนที่เติบโตขึ้นด้วย
"เมื่อตลาดจีนขยายตัวเลขการส่งออกของเราทั้งปริมาณและมูลค่าก็ขยายเช่นกัน ในปี 2565/2566 ตลาดจีนมีการเติบโตอยู่ประมาณ 18 - 20 % ซึ่งปี 2567 ก็น่าจะเติบโตต่อเนื่องไปอีกในอัตราส่วนเดียวกัน อย่างไรก็ตาม คนจีนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อมั่นว่าทุเรียนจากประเทศไทย มีคุณภาพ และรสชาติอร่อยครับ" นายพีรพันธ์ กล่าว
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ยังบอกอีกว่า ต้นทุเรียนที่ปลูกในระยะหลายปีที่ผ่านมา เริ่มให้ผลผลิตเป็นปีแรกเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทั้งใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง จันทบุรี และจังหวัดตราด ทำให้ภาพรวมผลผลิตทุเรียนในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แนวทางการบริหารจัดการผลไม้ในปี 2567 ทั้ง 3 จังหวัด ได้กำหนดมาตรการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพหรือทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด โดยประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน 4 สายพันธุ์ เพื่อสุ่มตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรทุเรียน มกษ. 3 - 2556
"อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ก็มีมาตรการรองรับ ทั้งการเฝ้าระวังเรื่องของปริมาณผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดกระจุกตัวสูงสุดในช่วงเดือนพ.ค. ว่าจะเกินความต้องการของตลาดมากน้อยแค่ไหน หรือกลไกตลาดที่เดินอยู่ตามปกติของแต่ละจังหวัดยังเดินอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ กล่าวคือ มีการซื้อขายสินค้าผลไม้ในราคาที่เป็นธรรม มีการดึงผลไม้ออกจากตลาด หรือกระจายสินค้าอยู่ในระดับที่มีความเหมาะสม แต่ถ้ามันมีติดขัดตรงไหน กรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ ก็พร้อมที่จะเข้าไปกระตุ้นให้ตลาดมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น" นายพีรพันธ์ กล่าวปิดท้าย