ข่าว

"รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ได้ไปต่อ "ศาลปกครองสูงสุด" ยกฟ้อง “บีทีเอส” ฟ้อง “รฟม.”

"รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ได้ไปต่อ "ศาลปกครองสูงสุด" ยกฟ้อง “บีทีเอส” ฟ้อง “รฟม.”

12 มิ.ย. 2567

"ประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม" ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี ได้ไปต่อ "ศาลปกครองสูงสุด" พิพากษายืน "ยกฟ้อง" คดีที่ “บีทีเอส” ยื่นฟ้อง “รฟม.” ชี้ดำเนินการชอบแล้ว

12 มิ.ย.2567 เวลา 13.15 น. ศาลปกครองสูงสุด อ่านคำ พิพากษา ยืนตามศาลปกครองกลาง ยกฟ้อง ในคดี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ( บีทีเอส ) ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ( รฟม. )

 

กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค. 2565 (ครั้งที่ 2) และ ออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค. 2563 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ บีทีเอส เสียหาย 

โดยศาลให้เหตุผลว่า  จากการ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน ก่อนดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการที่พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และ ประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง กำหนดไว้แล้ว และไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด 

 

อีกทั้ง มติของ คณะกรรมการคัดเลือก  โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  และ รฟม. เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิก ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว 

 

และเพิกถอนประกาศการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ( รฟม. ) เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว ลงวันที่ 3 ก.พ. 2564 ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ คณะกรรมการคัดเลือก  และ รฟม. มีประกาศดังกล่าว

 

มติของ คณะกรรมการคัดเลือก โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  และ รฟม. ในการประชุม เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ ในการคัดเลือกเอกชน เห็นชอบร่างประกาศเชิญชวน และร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เป็นอำนาจเตรียมการและดำเนินการของผู้ถูกฟ้องทั้งสอง

 

คือ ประกาศเชิญชวนฉบับที่พิพาทในคดีนี้ ซึ่งไม่ได้ขัดกับมติครม.ที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่อันเกินกว่าที่ควร สำหรับ บีทีเอส เเละเอกชนรายอื่น ที่จะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายจากมติของ คณะกรรมการคัดเลือก เกินควร จึง พิพากษา ยกฟ้อง โดยคำ พิพากษา ยกฟ้อง มีความเห็นเเย้งขององค์คณะ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ อดีตผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

ด้าน นาย ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ อดีตผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ( รฟม. ) ที่เดินทางเข้ารับฟังคำตัดสินของ ศาลปกครองสูงสุด ให้ข้อมูล ว่า  กระบวนการหลังจากนี้ รฟม. เตรียมนำคำ พิพากษา ของ ศาลปกครองสูงสุด มาตีความ เพื่อผลักดันเข้าสู่ขั้นตอนเตรียมลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูล

 

โดยเสนอผลการเจรจาและร่างสัญญามายังกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หากเห็นชอบผลการประมูลจะเร่งรัดลงนามสัญญาทันที เพราะขณะนี้เอกชนผู้ชนะการประมูลยื่นราคามาเป็นเวลานานแล้ว

 

อีกทั้งภาพรวมโครงการก็ล่าช้ามาหลายปี ประกอบกับงานโยธาส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 1 ปี หากสามารถเร่งลงนามสัญญาได้ จะส่งผลให้เอกชนสามารถจัดหาขบวนรถ และเปิดให้บริการส่วนตะวันออกได้โดยเร็ว