รวมสินค้าที่ “เงินดิจิทัล วอลเล็ต” 10,000 บาท ห้ามซื้อ ล่าสุดเพิ่มอีก 3 รายการ
ลิสต์ สินค้าห้ามใช้เงินดิจิทัล วอลเล็ต ซื้อ เคาะเพิ่มอีก 3 รายการ ยึดไทม์ไลน์คงเดิม ยอมถอยใช้เงิน ธ.ก.ส. ชงบอร์ดชุดใหญ่เคาะ 15 ก.ค.67 นี้
10 ก.ค. 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับ โครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ได้เห็นชอบปรับเพิ่ม รายการ สินค้าที่ไม่สามารถใช้เงินดิจิทัล วอลเล็ต อีก 3 รายการ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์สื่อสาร
ยกตัวอย่าง เช่น โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน เนื่องจากต้องการให้เม็ด เงินดิจิทัล เกิดกระตุ้นการใช้จ่ายกับสินค้าที่ผลิตในประเทศ อีกทั้งยังป้องกันการกระจุกตัวจากการใช้จ่าย เพราะสินค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีราคาสูง และผลิตจากนอกประเทศ
ยืนยันว่า โครงการดิจิทัล วอลเล็ต จะเดินหน้าตามเดิม เริ่มลงทะเบียนภายในปลายเดือนนี้(ก.ค.67) หรือต้นเดือนหน้า(ส.ค.67) และปิดลงทะเบียนก่อนสิ้นเดือน ก.ย.67 ประชาชนจะได้รับเงินไปใช้ได้ไตรมาส 4 เหมือนเดิม โดยนายกฯ จะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้งวันที่ 24 ก.ค.2567
สำหรับเงื่อนไข คุณสมบัติ ผู้มีสิทธิ์ได้รับ เงินดิจิทัล วอลเล็ต ยังยึดตามเดิม ได้แก่
- เกณฑ์อายุ 16 ปี ภายในวันที่ 30 ก.ย.67
- เงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท ภายในวันที่ 31 มี.ค.67
- รายได้ไม่เกิน 8.4 แสนบาท ใช้เกณฑ์ข้อมูลรายได้ภาษีย้อนหลัง ปีภาษี 2566
- สำหรับการใช้จ่ายอื่นยังให้ตามเดิม โดยการใช้จ่ายรอบแรกจากประชาชนไปร้านค้ายังต้องใช้จ่ายร้านค้าภายในอำเภอ และมีรายการ สินค้าต้องห้าม
ขณะที่ ระบบยืนยันตัวตน ยืนยันว่า จะจบในไตรมาส 3 ของปี2567 โดยขณะนี้ประชาชน และร้านค้าสามารถเข้าไปยืนยันตัวตนล่วงหน้าผ่าน แอปพลิเคชัน ทางรัฐ สำหรับดำเนินการ KYC ได้ เพื่อป้องกันระบบมีปัญหา หากประชาชนเข้าใจงานพร้อมกันจำนวนมาก ขณะเดียวกัน คาดว่าจะมีร้านค้าเข้ามาในโครงการไม่ต่ำกว่า 3 ล้านราย
สำหรับงบประมาณที่จะใช้ใน โครงการดิจิทัล วอลเล็ต หลังจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ได้ส่งหนังสือแสดงความเป็นห่วงเรื่องการจัดตั้งงบประมาณที่มีวงเงินขนาดใหญ่ในการดำเนินโครงการ ดิจิทัล วอลเล็ต กระทรวงการคลัง จึงมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษารายละเอียด พบว่า การดำเนินโครงการใดๆ ของรัฐที่ผ่านมา โดยทั่วไปแล้วจะมียอดผู้เข้ามาใช้สิทธิไม่เกิน 90%
จากตัวเลขดังกล่าว สำนักงบประมาณ จึงได้เสนอการปรับกรอบแหล่งเงินที่ใช้งบประมาณสำหรับดำเนินโครงการ 450,000 ล้านบาท จากเดิมใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท ให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ศึกษามาข้างต้นว่า มีผู้ใช้สิทธิไม่เกิน 90% แต่หากประชาชนเข้ามาลงทะเบียน 50 ล้านคน ใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท ก็สามารถบริหารจัดการได้ตามงบปกติ
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาล ยังวางเป้าหมายเดิมว่ามีประชาชนใช้สิทธิ 50 ล้านคน ซึ่งเราจะทราบจำนวนที่แท้จริงหลังจากปิดลงทะเบียน ช่วงสิ้นเดือน ก.ย.67 นี้ และจะทราบเม็ดเงินงบประมาณจริงที่ต้องใช้
สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้สำหรับดำเนิน โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ได้แก่
- การใช้งบจากงบประมาณปี 2567 จำนวน 160,000 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณเพิ่มเติม 122,000 ล้านบาท และงบประมาณจากการบริหารจัดการอีก 40,000 ล้านบาท
- การใช้งบจากงบประมาณปี 2568 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณประจำ 152,700 ล้านบาท งบจากาการบริหารจัดการอีก 132,300 ล้านบาท
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เมื่อใช้งบประมาณจากแหล่งที่มาดังกล่าวแล้ว ความจำเป็นในการใช้นโยบายกึ่งการคลัง มาตรา 28 ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่จะใช้งบประมาณจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ดำเนินการอาจจะไม่จำเป็นแล้ว
ทั้งนี้ คาดว่าเม็ดเงินจาก โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ไม่น่ามีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้เท่าไหร่นัก แต่จะมีผลในปี 2568 ระหว่างนี้ จะมีมาตรการดูแลเศรษฐกิจ ออกมาแต่ไม่ใช่รูปแบบกระตุ้นการบริโภค จะเน้นดูแลการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
“ทั้งหมดยังเป็นมติของคณะอนุกรรมการกำกับ และหลังจากนี้จะต้องเสนอให้ที่ประชุมชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นฝ่ายพิจารณา ในวันที่ 15 ก.ค.2567 ว่าจะเห็นด้วยตามนี้หรือไม่ ซึ่งจะต้องรอความชัดเจนอีกที”
สรุป สินค้าที่ไม่สามารถใช้เงินดิจิทัล วอลเล็ต ประกอบด้วย
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ผลิตภัณฑ์ยาสูบ บุหรี่ กัญชา กระท่อม
- ซื้อของออนไลน์
- ซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร อัญมณี หรือเครื่องประดับ
- ชำระหนี้สิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเทอม
- ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ
- เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์สื่อสาร อาทิ โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน