รู้จัก นากก้า NaCGA สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ ตัวช่วยใหม่ระบบค้ำประกัน
ครม. เห็นชอบ ไฟเขียวจัดตั้ง “นากก้า” (NaCGA) สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ ยกเครื่องใหญ่ระบบค้ำประกันไทย ช่วยประชาชน-เอสเอ็มอี เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น จ่อส่งร่างกฎหมายเข้า ครม.ใน 4 เดือนข้างหน้า
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการจัดตั้ง “สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ” หรือ นากก้า (NaCGA) เพื่อเป็นกลไก การค้ำประกันสินเชื่อรูปแบบใหม่ โดยขั้นตอนต่อไปจะเป็นการร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรดังกล่าวร่วมกัน ระหว่างกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับ “นากก้า” หรือ สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ คือการยกเครื่องระบบค้ำประกันของไทย โดยเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ เป็นการค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee) โดยเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การคิดค่าธรรมเนียม การค้ำประกันอิงตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) การอนุมัติและออกหนังสือค้ำประกัน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า NaCGA จะเป็นหน่วยงานใหม่ ที่มีหลักการในการทำงานค้ำประกันสินเชื่อแบบใหม่ จากเดิมที่ประชาชนหรือธุรกิจรายย่อยที่จะขออนุมัติสินเชื่อแทนที่จะเดินไปที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันความเสี่ยง ก็ให้เดินมาที่ NaCGA ก่อนเพื่อประเมินความเสี่ยงและคิดค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันความเสี่ยงแล้วออกใบประกันความเสี่ยงให้ และถือใบประกันความเสี่ยงไปที่สถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อ ทำให้ประชาชนรายย่อย และเอสเอ็มอี เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้นด้วย
สำหรับแหล่งเงินที่ NaCGA จะใช้เป็นแหล่งเงินในการค้ำประกันจะมาจาก 3 แหล่ง 1.เงินที่รัฐบาลสมทบ 2.แหล่งเงินที่เก็บจากสถาบันการเงิน และ 3.รายได้จากค่าธรรมเนียมจากคนที่มาขอสินเชื่อ ซึ่งค่าธรรมเนียมจะถูกเพราะสนับสนุนโดยภาครัฐ แต่รัฐไม่ต้องเอางบประมาณไปสนับสนุนการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
“นากก้า” เสมือนสถาบันประกัน แต่เป็นการ “ประกันความเสี่ยงทางการเงิน” ให้ประชาชน โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1.ประชาชนผู้ต้องการสินเชื่อ ติดต่อ นากก้า
2.นากก้า ประเมินความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อเป็นรายบุคคล
3.นากก้า คิดค่าธรรมเนียมในอัตราต่ำในการค้ำประกันสินเชื่อตามความเสี่ยง (รัฐบาลและสถาบันการเงินช่วยสมทบ)
4.นากก้า ออกหนังสือค้ำประกันให้บุคคลนั้น โดยเป็นการประกันความเสี่ยง หากผิดนัดชำระหนี้
5.ผู้ขอสินเชื่อ นำหนังสือค้ำประกัน ไปใช้ในการไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
6.สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อ เพราะผู้ขอสินเชื่อได้รับการค้ำประกันความเสี่ยงจาก นากก้า เรียบร้อยแล้ว
ขั้นตอนต่อไป กระทรวงการคลังจะร่างกฎหมายจัดตั้งร่วมกับ ธปท. ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือนครับ