ข่าว

หนี้ครัวเรือนท่วม 6 แสนบาท ทุบสถิติรอบ 16 ปี สาเหตุอันดับ 1 รายได้ไม่พอรายจ่าย

หนี้ครัวเรือนท่วม 6 แสนบาท ทุบสถิติรอบ 16 ปี สาเหตุอันดับ 1 รายได้ไม่พอรายจ่าย

10 ก.ย. 2567

หอการค้าไทย เผยตัวเลขหนี้ครัวเรือน 6 แสน/ครัวเรือน สูงสุดในรอบ 16 ปี พบว่ารายได้ไม่พอกับรายจ่าย เป็นสาเหตุหลัก ขณะที่บัตรเครดิต เป็นหนี้อันดับ 1

10 ก.ย. 2567 นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2567 พบว่า ครัวเรือนไทยมีตัวเลขภาระหนี้สินเฉลี่ย 606,378 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% และ เพิ่มสูงสุดตั้งแต่มีการสำรวจในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2552

 

โดยในจำนวนนี้ เป็นยอดหนี้นอกระบบ 69.9% ลดลงจากปีก่อนที่ 80.2% แต่มาเพิ่มในสัดส่วนของ หนี้นอกระบบที่สูงถึง 30.1% จากปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วนเพียง 19.8% มาจากการกู้ในระบบเต็ม เนื่องจากธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ 

 

ส่วนภาระการผ่อนชำระ อยู่ที่ประมาณ 18,787 บาท/เดือน จากปีก่อนหน้าผ่อนชำระต่อเดือนที่ 16,742 บาท ซึ่งในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ 71.6% เคยผิดนัดชำระหนี้ 

โดยประเภทหนี้อันดับ มาจากบัตรเครดิต  รองลงมา คือ ยานพาหนะ  และการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค เนื่องมาจากมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย  มีเหตุให้ต้องใช้เงินฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด และค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น  รวมไปถึงภาระทางการเงินในครอบครัวที่สูงขึ้น

 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น 10 อันดับแรก คือ 1.รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 2.มีเหตุไม่คาดคิดที่ต้องใช้เงินฉุกเฉิน 3.ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น 4.ภาระทางการเงินของครอบครัวสูงขึ้น 5.ล้มเหลวจากการลงทุน 6.ลงทุนประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น 7.ซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 8.ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น 9.ค่าเล่าเรียนของบุตร-หลาน และ 10.ขาดรายได้ เนื่องจากถูกออกจากงาน

 

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้มากสุด คือ เศรษฐกิจไม่ดี รองลงมา คือ รายได้ลดลง , สภาพคล่องของครัวเรือนลดลง , ราคาพืชผลเกษตรลดลง , ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้ และไม่มีแหล่งให้กู้ยืมเงินเพิ่ม เป็นต้น

หนี้ครัวเรือนท่วม 6 แสนบาท ทุบสถิติรอบ 16 ปี สาเหตุอันดับ 1 รายได้ไม่พอรายจ่าย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า หนี้สินครัวเรือน เป็นเรื่องสำคัญและเป็นปัญหาที่สะสมมาต่อเนื่องยาวนาน

 

นับตั้งแต่ปี 2556 ระดับหนี้ครัวเรือนเริ่มสูงเกินกว่า 80% ของ จีดีพี โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 90% ของจีดีพี นับตั้งแต่ปี 2563 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงระดับสูงสุดที่ 94.6% ของจีดีพี ในช่วงปี 2564 จากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนของประเทศต้องหยุดชะงัก ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในเรื่องการพักชำระหนี้ จึงทำให้ยอดหนี้ครัวเรือนไม่ลดลง

 

อย่างไรก็ตามหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการแปลงสินเชื่อจากนอกระบบเข้ามาสู่ในระบบ จึงทำให้มีสัดส่วนต่อ จีดีพี สูงขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เพราะช่วยลดดอกเบี้ยจากที่ต้องชำระในอัตราสูงถึง 10% ต่อเดือน ลงมาอยู่ที่ราว 3% ต่อเดือนได้

 

นอกจากนี้ รัฐบาลในขณะนั้นยังมีนโยบายพักชำระหนี้ และการช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาเงินนอกระบบ

 

ปัญหาในครัวเรือนไม่ได้มีแต่ผลเสียเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับหนี้ ใช้ไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อการลงทุน หรือ ซื้อบ้าน-รถ ซึ่งเมื่อเป็นหนี้ในส่วนนี้แล้ว ช่วยทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ดังนั้นปัญหาหนี้ครัวเรือน จึงไม่ใช่ปัญหาที่บั่นทอนเศรษฐกิจ เพียงแต่มีผลทางจิตวิทยา เนื่องจากหนี้ครัวเรือนเป็นจำเลย จากมุมมองที่ว่าเมื่อหนี้ครัวเรือนสูง ประชาชนจะไม่มีความสามารถกู้ใหม่ หรือบริโภคได้เต็มที่ ซี่งการมีหนี้ครัวเรือนสูง ไม่ได้แปลว่าประเทศจะขับเคลื่อนไม่ได้”นายธนวรรธน์ กล่าว

 

สิ่งสำคัญ คือ รัฐบาลควรสำรวจต้นเหตุหนี้ให้ชัดเจน เพราะทางทฤษฎี หนี้ครัวเรือนสูง จะมีข้อจำกัด ต่อการกู้ใหม่ ทำให้ไม่มีความสามารถในการบริโภคเต็มที่ ดังนั้น ใช้โมเดลการปรับโครงสร้างหนี้จากที่ดำเนินการกับกลุ่มเกษตรกร และต้องการให้รัฐบาล จัดตั้งคลินิกดูแลหนี้ เพื่อแก้ปัญหาอย่างชัดเจน ซึ่งคาดหวังว่ารัฐบาลจะทำให้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนลดลงมาได้ที่ 89 % ของจีดีพี ในปีหน้า

 

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า  สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะให้กับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรกในช่วงเดือนก.ย.นี้ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดยจะมีการแจกเป็นเงินสด คาดว่าจะไหลไปในการซื้อสินค้าทุกประเภท น่าจะอยู่ในกลุ่มอุปโภคบริโภคเป็นหลัก และซื้อภายในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ จึงคาดว่าจะมีเงินหมุนในระบบรวม 2 รอบ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นจีดีพีไตรมาส 4 ของปีนี้ให้เติบโตราว 3.5-4% และในภาพรวมจะช่วยกระตุ้นจีดีพี ของทั้งปีให้เพิ่มขึ้นอีก 0.2-0.3% เป็น 2.7-2.8% จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตราว 2.5%

 

ส่วนการจ่ายเงิน 1 หมื่นบาทกับกลุ่มที่เหลือยังไม่ชัดเจน ซึ่งเบื้องต้น หากจ่ายครึ่งนึงก่อน ในช่วงปลายปี เศรษฐกิจ จะโตขึ้นอีก 0.1% ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสโตได้ถึง 2.8% และหาก ดิจิทัล วอลเล็ต อัดต่อเนื่อง ต้นปีหน้า รวมกับการใช้จ่ายช่วงเทศกาลต่างๆ รวมทั้งการใช้จ่ายงบประมาณ มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีหน้า จะโตได้ 3.5 ถึง 4%

 

กดดัน หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ให้ลดมาอยู่ที่ระดับ 89 - 89.5%  แต่ในระยะต่อไป รัฐบาลควรเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตเกิน 4% โดยเร็ว เพราะในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทย ทรงตัวไม่เกิน 2.5%