ข่าว

ศาลปกครองสั่ง ทอท.ห้ามตั้งเต็นท์ ขวางทางเข้าเซ็นทรัลวิลเลจ-ชดใช้ 2.9 ล้าน

ศาลปกครองสั่ง ทอท.ห้ามตั้งเต็นท์ ขวางทางเข้าเซ็นทรัลวิลเลจ-ชดใช้ 2.9 ล้าน

24 ก.ย. 2567

ศาลปกครอง พิพากษาสั่ง ทอท.ชดใช้ให้โครงการเซ็นทรัลวิลเลจ ลักชูรี่ 2.9 ล้าน พร้อมทั้งห้าม ตั้งเต้นท์ขวางทางเข้าโครงการฯ แม้จะเป็นที่ราชพัสดุ

24 ก.ย. 2567 ที่ศาลปกครอง  ถนนเเจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาห้ามบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน (ทอท.)  กระทำการและให้ยุติการกระทำใดๆ อันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์ทางเข้าออก หรือขวางทางเข้าออก หน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ ที่อยู่ติดกับเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านถนนบางนา – บางวัว ซึ่งบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินให้ทำทางเชื่อมในเขตทางหลวง ได้เป็นการชั่วคราว

 

และให้ ทอท. ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด เป็นเงินจำนวน 2,991,201.60 บาท  พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี  นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เม.ย. 2564 และในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด 

และให้คำสั่งของศาลลงวันที่ 30 ส.ค.2562 ที่กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา มีผลใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะพันระยะเวลาการอุทธรณ์ และในกรณีที่มีการอุทธรณ์ให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด ยื่นฟ้อง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ว่า เมื่อวันที่ 22  ส.ค.2562   กรณี  ทอท.ตั้งเต็นท์ขวางทางเข้าออกโครงการ เซ็นทรัล วิลเลจฯ  ซึ่งได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินให้ทำทางเชื่อม ในเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านถนนบางนา - บางวัว โดยอ้างว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่ง ทอท.เป็นผู้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ จึงขอให้ศาลสั่งห้าม ทอท.ยุติการกระทำอันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิด อุปสรรคต่อการใช้ทางเข้าออกของโครงการเซ็นทรัลวิลเลจฯ  และชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 145,597,656.36 บาท พร้อมดอกเบี้ย

ศาลปกครองสั่ง ทอท.ห้ามตั้งเต็นท์ ขวางทางเข้าเซ็นทรัลวิลเลจ-ชดใช้ 2.9 ล้าน

ส่วนที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าวระบุเหตุผลว่า ที่ดินบริเวณที่กรมทางหลวงก่อสร้างทางเข้าออกด้านทิศใต้ของ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 มีกระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยกรมการบินพาณิชย์  หรือปัจจุบันคือกรมท่าอากาศยาน  ได้ดำเนินการสำรวจและเจรจาตกลงซื้อขายกับราษฎรเจ้าของที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดสร้าง ทางเข้าออกสนามบินพาณิชย์  ในระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ.2505 และ พ.ศ. 2511 เพื่อจัดสร้างสนามบินหรือท่าอากาศยานพาณิชย์

 

ที่ดินดังกล่าวจึงเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามมาตรา 1304(3)  แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ ที่ราชพัสดุ 2518  และมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2562 โดยกรมธนารักษ์ได้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุไว้แล้ว แม้ต่อมาเมื่อกรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้างทางเข้าออกด้านทิศใต้ของท่าอากาศสุวรรณภูมิบนที่ราชพัสดุดังกล่าวแล้วเสร็จ และจัดระบบหมายเลขทางหลวงเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ก็ตาม   

 

แต่เมื่อไม่มีการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  ที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2518  หรือมาตรา 34 พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2562 ที่ดินดังกล่าวจึงยังคงมีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 5 แห่ง  พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2562

 

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตามแผนที่แนบท้าย ข้อตกลงการใช้ประโยชน์ (สนามบินสุวรรณภูมิ) ฉบับลงวันที่ 30 ก.ย.2545  ที่กรมการบินพาณิชย์ ตกลงให้การทำอากาศยานแห่งประเทศไทย ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุที่อยู่ในความปกครองดูแล และใช้ประโยชน์ของกรมการบินพาณิชย์อันเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิ จำนวนเนื้อที่ประมาณ 19,251 ไร่ นั้น  

 

ไม่ได้รวมถึงที่ดินที่ใช้ในการก่อสร้างทางเข้าออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านทิศใต้ด้วยแต่อย่างใด ทอท.จึงไม่มีสิทธิหรืออำนาจที่จะตั้งเต็นท์ในที่ราชพัสดุดังกล่าวเพื่อขวางทางเข้าออกหน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจฯ   

 

การกระทำของทอท.จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมายและทำให้บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัดได้รับความเสียหาย จากการที่ไม่อาจใช้ทางเข้าออกได้ การกระทำละเมิดต่อบริษัทผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  จึงมีคำพิพากษาดังกล่าว