เช็กลิสต์ 10 จังหวัด คนจนเยอะที่สุดปี 66 ยากจนเรื้อรังนับ 15 ปี
เช็กลิสต์ 10 จังหวัด คนจนเยอะที่สุดในปี 2566 เปิดข้อมูลเชิงลึกจังหวัดครองแชมป์ยากจนเรื้อรังนาน 15 ปี เช็กที่นี่
25 ต.ค. 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยรายงาน การวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ประจำปี 2566 โดยจำนวนคนจนลดลงจาก 3.79 ล้านคน ในปี 2565 มาอยู่ที่ 2.39 ล้านคน
คิดเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 3.41 ลดลงจากปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ร้อยละ 5.43 แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้น ของสถานการณ์ความยากจนดังกล่าว เป็นผลมาจากการขยายตัวต่อเนื่อง ของเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีสัดส่วนแรงงานยากจนสูงที่สุด
จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่
- ปัตตานี
- นราธิวาส
- แม่ฮ่องสอน
- พัทลุง
- สตูล
- หนองบัวลำภู
- ตาก
- ประจวบคีรีขันธ์
- ยะลา
- ตรัง
โดยปัตตานี และแม่ฮ่องสอนติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วน คนจนสูงสุดต่อเนื่องกันอย่างน้อย 15 ปี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความยากจนเรื้อรัง ในจังหวัดดังกล่าว
นอกจากนี้ หากพิจารณาจาก 10 จังหวัดแรก ที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดในปี 2566 จะพบว่า 5 ใน 10 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ตาก และยะลา มักติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วน คนจนสูงสุดในปีอื่น ๆ ด้วย กล่าวคือ มีแนวโน้มเผชิญกับปัญหาความยากจนเรื้อรัง
หากพิจารณาภาพรวม สถานการณ์ความยากจนในระดับจังหวัด พบว่าจำนวนคนจนในระดับจังหวัดปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่มีสัดส่วนคนจนลดลง โดยเฉพาะจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ
จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนลดลงมากที่สุด 5 จังหวัด ได้แก่
- แม่ฮ่องสอน
- ตาก
- ศรีสะเกษ
- กาฬสินธุ์
- พะเยา
12 จังหวัด ที่มีสัดส่วนคนจนเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565
- ประจวบคีรีขันธ์
- สุพรรณบุรี
- กำแพงเพชร
- สตูล
- ชัยภูมิ
- พิษณุโลก
- ตราด
- สุราษฎร์ธานี
- สมุทรปราการ
- ชลบุรี
- สมุทรสงคราม
- ปทุมธานี