ข่าว

ครม.ไฟเขียว เคาะช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่

ครม.ไฟเขียว เคาะช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่

03 ธ.ค. 2567

ครม.ไฟเขียว เคาะช่วยเหลือชาวนา เงินช่วยเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ วงเงินงบประมาณ 38,578.22 ล้านบาท

3 ธ.ค.2567 นายอนุกูล พฤกษานุกูล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้

 

1.เห็นชอบการยกเลิกโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิต ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนฯ) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567

 

2.เห็นชอบโครงการสนับสนุน ค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 วงเงินงบประมาณ 38,578.22 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 2 ส่วน ดังนี้

  • กรอบวงเงินโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนฯ จำนวน 29,518.02 ล้านบาท
  • กรอบวงเงินทุน ธ.ก.ส.สำรองจ่ายการดำเนินงานตามโครงการฯ เพิ่มเติมอีก จำนวน 9,060.20 ล้านบาท และให้ ธ.ก.ส. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป

3.อนุมัติผ่อนปรนการไม่ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ในกรณีให้ทุกหน่วยงานหลักเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตร โดยตรงแก่เกษตรกรเฉพาะสินค้าข้าว

 

นายอนุกูล กล่าวว่า โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68  กรมส่งเสริมการเกษตรจะนำข้อมูลรายชื่อเกษตรที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ส่งให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือน 10 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท

 

ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเกษตรผู้ปลูกข้าว ประมาณ 4.61 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบจนถึง 30 กันยายน 2568 ส่วนระยะเวลาจ่ายเงิน หลังจากที่คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการ ธ.ก.ส.มีมติเห็นชอบจนถึง 30 กันยายน 2568

“การดำเนินโครงการฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และสามารถลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของศูนย์ข้าวชุมชนและขยายผลไปให้ครอบคลุม ประมาณ 4.6 ล้านครัวเรือน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ส่วนเหลือเพิ่มขึ้นทำให้มีอำนาจการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของเกษตรกรและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

รวมถึงเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในระดับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นการเพิ่มการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกษตรมีเงินไว้สำหรับใช้จ่ายในการซื้อปัจจัยการผลิตข้าวหรือจ่ายค่าบริหารจัดการในการผลิตข้าว เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา เป็นต้น” นายอนุกูล ระบุ