ไลฟ์สไตล์

วันภาษาไทย59สารพัดเปลี่ยนแปลงพาใช้ภาษาไม่ถูกต้องขาดความงดงาม

วันภาษาไทย59สารพัดเปลี่ยนแปลงพาใช้ภาษาไม่ถูกต้องขาดความงดงาม

27 ก.ค. 2559

วันภาษาไทย59สารพัดเปลี่ยนแปลงพาใช้ภาษาไม่ถูกต้อง-ขาดความงดงาม : สุพินดา ณ มหาไชยรายงาน  

           ...นักภาษาศาสตร์ห่วงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่างๆ นำมาซึ่งการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้อง ทั้งกรณีการใช้ภาษาไทยในโลกโซเชียล โดยเฉพาะไลน์ ซึ่งมีการดัดแปลงคำ ใช้คำผิดความหมาย อาจเข้ารุกทำลายการใช้ภาษาทางการของคนไทยได้ อย่างไรก็ตามรากเหง้าของปัญหามาจากการที่ทุกฝ่ายละเลยความสำคัญของวิชานี้ สุดท้ายคนไทยจึงใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง ไม่แตกฉาน และไม่งดงาม...

           ศ.สัญชัย สุวังบุตร คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นปี 2559 บอกว่า ประสบการณ์จากการสอนพบเยาวชนไทยมีปัญหาในการใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นอิทธิพลจากการใช้ภาษาในโลกโซเชียล

           “ภาษามีอยู่หลายรูปแบบ ภาษาที่ใช้ในไลน์เป็นภาษาที่ต่างออกไปจากภาษาเขียน เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารเฉพาะกลุ่ม เน้นความเร็ว สะดวกในการสื่อสาร จึงมีการประดิษฐ์คำใหม่ขึ้นมาใช้ โดยการตัดคำ เปลี่ยนตัวสะกด ไม่ใช่การใช้ภาษาที่ถูกต้อง เพราะเป็นการสะกดที่ผิด บางครั้งก็สื่อสารผิดความหมายด้วย เมื่อใช้ภาษาเช่นนี้บ่อยๆ ก็เกิดผลกระทบต่อการใช้ภาษาที่เป็นทางการด้วย ดูจากการเขียนเรียงความ เขียนตอบข้อสอบของนักศึกษา พบว่า เขียนสื่อสารไม่ได้ ใช้ภาษาไม่ถูกต้อง หรือใช้ภาษาผิดความหมาย สื่อความหมายไม่ชัดเจน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเพราะเด็กสมัยนี้ไม่ได้ถูกเข้มงวดในการเขียนรู้ภาษาไทยเหมือนเด็กรุ่นก่อนๆ” ศ.สัญชัย กล่าว และว่า สื่อเองก็มีการใช้ภาษาไม่ถูกต้อง เป็นแบบอย่างที่ไม่ถูกต้องด้วย

           เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ นักเขียน กล่าวว่า รากของปัญหาภาษาไทยเป็นผลจากที่คนไทยเริ่มลืมรากเหง้าของตัวเอง ทั้งในส่วนของผู้ปกครอง สถานศึกษา และสังคม ส่งผลให้ขาดการให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ภาษาไทย เมื่อต้นทางอ่อน ปลายทางจึงอ่อนเป็นธรรมดา

           “พอจะเข้าสู่อาเซียน ผู้ปกครองบางส่วนนิยมส่งลูกไปเรียนต่อต่างประเทศ เด็กขาดโอกาสเรียนรู้ภาษาไทยซึ่งพ่วงมากับการเรียนรู้วัฒนธรรมไทย ขณะที่ระบบการศึกษาไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนวิชานี้ เพราะเห็นว่าเป็นของตาย เรียนแค่พอผ่าน แต่สนใจวิชาเกี่ยวกับเงินมากกว่า เช่น เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เด็กไทยใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามขนบเดิม และเมื่อไม่แตกฉานในภาษาแล้วก็ไม่สามารถใช้ภาษาไทยอย่างงดงามได้ ทั้งที่ภาษาไทยเป็นภาษาที่งดงาม เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาที่ลึกสุดจะต้องเริ่มจากการที่ทุกอย่างหันมาให้ความสำคัญกับวิชาภาษาไทยก่อน”

           เฉิน เจียง อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นปี 2559 บอกว่า อยู่เมืองไทยมาขึ้นปีที่ 7 แล้ว ได้เรียนรู้ภาษาไทยจนสามารถสื่อสารได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ที่สนใจเรียนภาษาไทย เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสื่อสารกับคนไทย และภาษาไทยก็เป็นภาษาไทยที่มีความสำคัญในภูมิภาคอาเซียนด้วย ทั้งยังเป็นภาษาที่มีความไพเราะงดงาม

           “ภาษาไทยเป็นภาษาที่ไพเราะมาก โดยเฉพาะ เพลงไทย เพลงลูกทุ่งเป็นเพลงที่เพราะมาก รวมทั้งวัฒนธรรมไทยก็มีความงดงามเช่นกัน นอกจากนั้น จากการที่ประเทศไทยและจีนมีการติดต่อสื่อสารกันมาก ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม การท่องเที่ยว ปัจจุบันจึงมีคนจีนจำนวนมากมาเรียนในประเทศไทย โดยเฉพาะจากมณฑลยูนนาน กวางสี ที่อยู่ใกล้ประเทศไทย คนจีนมาเรียนในมหาวิทยาลัยไทยเกือบ 3 หมื่นคน เป็นนักศึกษาชาวต่างชาติกลุ่มใหญ่สุดในไทย ขณะที่ในประเทศจีนก็มีคนสนใจเรียนภาษาไทยเพิ่มขึ้น สมัยก่อนมีเป็นหลักร้อย แต่ปัจจุบันตามมหาวิทยาลัยต่างๆ มีคนเรียนภาษาไทยเป็นพันคน”

           ประทีป สุขโสภา ศิลปินพื้นบ้าน “เพลงขอทาน” ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นปี 2559 กล่าวว่า ในหลวงทรงห่วงใยภาษาไทย มีรับสั่งถึงการใช้ภาษาไทยไว้ว่า “พูดมาก คนฟังยาก พูดเร็ว คนฟังไม่ทัน พูดดี คนฟังสบาย” ทั้งนี้ก็เพื่อเน้นย้ำให้พูดให้ชัดเจน ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ซึ่งได้สืบสานพระราชดำริผ่านการแสดง มีการออกเสียงสูงและต่ำให้ถูกอักขระ เว้นวรรคถูกต้อง

           “ปัญหาที่เป็นห่วง การเรียนการสอนการอ่านทำนองเสนาะ ซึ่งปัจจุบันถูกละเลย โรงเรียนไม่สนใจสอน ขณะเดียวกันครูผู้สอนก็ไม่สามารถสอนวิธีการอ่านออกเสียงอย่างไพเราะและชัดเจน เพราะไม่ได้ฝึกอ่านกลอน เมื่อครูสอนผิด เด็กซึ่งอยู่ในวัยเรียนรู้จดจำก็อ่านทำนองเสนาะผิดๆ ตาม ทั้งนี้ การอ่านทำนองเสนาะนั้น เป็นการเรียนรู้และฝึกการออกเสียงสูงต่ำ ออกเสียงอักขระ ช่วยให้ออกเสียงภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ทั้งทำนองเสนาะยังเป็นรากเหง้าของคนไทย นอกจากนั้นยังห่วงการอ่านออกเสียงควบกล้ำ ช ซ ร ล ว ทุกวันนี้ภาษาไทยแทบไม่มีคำควบกล้ำ อยากเสนอให้อยู่ในกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อเพิ่มทักษะการเรียนภาษาไทย กระตุ้นให้นักเรียนได้รู้จักการอ่านกลอนอย่างถูกต้อง จะเป็นประโยชน์มาก”

           ละมัย ศรีรักษา อุปนายกสมาคมศิลปินพื้นบ้านจังหวัดสงขลา ผู้ได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น กล่าวว่า ในฐานะครูโนรา ก็จะใช้ภาษาถิ่นในการสอนเด็กๆ ทุกคนที่เข้ามาเรียนการแสดงโนรา โดยไม่พูดภาษากลางเลย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เด็กได้ซึมซับภาษาถิ่นจากการแสดง ที่สำคัญอยากให้เด็กๆ ได้รู้ว่า เราเกิดในภาคใต้ก็ควรที่จะรักภาษาถิ่นของตัวเองด้วย และ ก็ยังรักษาอัตลักษณ์ทางภาษาใต้แก่คนในบ้านด้วยเช่นกัน นอกจากนี้เห็นว่า ภาษาถิ่นมีความสำคัญมากกับคนทุกภาค เพราะอย่างน้อยจะได้รู้ว่าเรามีรากเหง้า เป็นใครมาจากจังหวัดไหน เห็นตัวอย่างชัดเจนจากเด็กๆ ต่างจังหวัดที่ไปเรียนที่กรุงเทพฯ เมื่อเจอกันก็จะส่งภาษาถิ่น ซึ่งจะเกิดความผูกพันที่แนบแน่น มีความรักความสามัคคี เป็นเพราะคนถิ่นเดียวกัน

           ด้าน วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม บอกว่า การใช้ภาษาใหม่ๆ เช่น ภาษาในแชทไลน์นั้น เห็นว่าไม่น่ากังวล เพราะภาษาลักษณะนี้อยู่ไม่นานจะหายไปเอง ทั้งนี้ภาษาถือเป็นวัฒนธรรมที่ไม่หยุดนิ่ง มีพลวัต ภาษาจึงต้องเพิ่มพูนขึ้น และภาษาใหม่มีได้ แต่ต้องรักษาภาษาเดิมไว้ หากจะใช้ถูกต้องสามารถใช้พจนานุกรมกำกับได้