"วัคซีน EF" สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก
การพัฒนาทักษะสมอง EF หรือ Excutive Functions กระบวนการทักษะทางความคิดของ “สมองส่วนหน้า” พัฒนาได้ ถ้าพ่อแม่เอาใจใสดูแลฝึกฝนให้ลูกทำต่อเนื่อง หรือแม้แต่การเล่น
การพัฒนาทักษะสมอง EF หรือ Excutive Functions กระบวนการทักษะทางความคิดของ “สมองส่วนหน้า” เกี่ยวกับความคิด การกระทำ ความรู้สึก การกระทำ เป็นความสามารถของสมองที่ใช้บริหารจัดการชีวิตเรื่องต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นทักษะพื้นฐานที่จะทำให้คนๆหนึ่งไปสู่ความสำเร็จได้ ทักษะสมอง EF พัฒนาได้ ถ้าพ่อแม่เอาใจใสดูแลฝึกฝนให้ลูกทำต่อเนื่อง หรือแม้แต่การเล่นก็ช่วยเสริมได้!!
ล่าสุดงานเปิดตัวเครื่องเล่นใหม่ของสวนสนุก IMAGINIA ที่ฉลองก้าวสู่ปีที่ 3 ที่นำรูปการเล่นเพื่อพัฒนาทักษะสมอง EF สร้างทักษะชีวิต จิตนาการ เสริมทักษะ 9 ด้านผ่านการเล่นสนุกให้กับเด็กๆ พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ให้ความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะสมอง EF ว่า การพัฒนาทักษะ EF สามารถทำได้ตั้งเด็กอายุ 1 ปีไปจนถึงช่วงอายุ 20-25 ปีที่เป็นผู้ใหญ่ตอนต้น ด้วยรูปแบบที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย ในวัยโตขึ้นก็ต้องใช้กิจกรรมที่ซับซ้อนขึ้น แต่ช่วงอายุ 3-5 ปีเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นช่วงที่เด็กฝึกการเรียนรู้กฎระเบียบ แบบแผนที่พื้นฐานในการพึ่งพาตัวเองได้
ทั้งนี้ EF เป็นทักษะกระบวนการทางจิตใจให้เด็ก ผู้ใหญ่ไปถึงเป้าหมายต้องการ ซึ่งมีหลายด้านประกอบกันทั้งการ ควบคุมตนเอง การสมาธิจดจ่อ ยับยั้ง ชั่งใจ รู้จักการควบคุมอารมณ์ตนเอง มีสติรู้ตัว จัดลำดับเหมาะสม และมีความคิดเชิงยืดหยุ่นที่สามารถปรับใช้เมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆในชีวิตได้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ก็จะไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ แต่ถ้าขาดทักษะเหล่านี้การไปสู่ความสำเร็จก็จะทำได้ยาก
พญ.เบญจพร บอกว่า เปรียบเทียบกับหลักธรรมในพุทธศาสนา ทักษะ EF ก็ตรงกับหลักอิทธิบาท 4 การไปสู่ความสำเร็จ ฉันทะ ความชอบ วิริยะ ความขยันหมั่นเพียน จิตตะ ความเอาใจใส่ จดจ่อในสิ่งที่ทำ และวิมังสา การได้ทบทวนตัวเอง การไตร่ตรอง ทำอะไรไปบ้าง เพราะฉะนั้น การพัฒนาทักษะ EF ให้ลูก ก็เปรียบเสมือนพ่อแม่ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก ต้องเริ่มที่การดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่
สำหรับทักษะสมอง EF 9 ด้าน ได้แก่ 1.ความสามารถในการจดจำข้อมูลมาใช้งาน (Working Memory) 2.การยับยั้งชั่งใจ-คิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) 3.การยืดหยุ่นความคิด (Shift Cognitive Flexibility) 4.การใส่ใจจดจ่อ (Focus) 5.การควบคุมอารมณ์ (Emotion Control) 6.การประเมินตัวเอง (Self-Monitoring) 7.การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) 8.การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ (Planning and Organizing) และ9.การมุ่งเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence)
อยากจะพัฒนาทักษะ EF ให้ลูกแต่ไม่รู้จะใช้กิจกรรมแบบไหน แล้วถ้าไม่ได้ออกไปข้างนอก อยู่ที่บ้านทำได้หรือเปล่า พญ.เบญจพร แนะนำว่า กิจกรรมที่กระตุ้นการพัฒนา EF ต้องเป็นการเล่นเชิงอิสระ อยู่บ้านก็ทำได้และพ่อแม่ควรทำร่วมกับลูกๆ เช่น ดนตรี การอ่านนิทาน จะฝึกเด็กให้มีสมาธิ เกิดการจดจำ หรือจะปั้นดินน้ำมัน การก่อทราย การทดลองเล็กๆน้อย ให้เด็กได้ลองผิดลองถูก ตรงนี้ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะเผชิญกับอุปสรรค ถ้าทำไม่ได้จะทำยังไงต่อ ฝึกการคิดแก้ไขปัญหา หรือถ้าสุดท้ายทำไม่ได้ เกิดผิดพลาด ก็ยังเป็นโอกาสสอนให้เขารู้จักความผิดหวัง หรือชวนเด็กๆมาช่วยทำงานบ้าน แรกๆเด็กก็สนุกแต่บ่อยๆเข้า ก็อาจจะเบื่อแต่ก็ต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ ตรงนี้ก็ช่วยเรื่องการฝึกความอดทนทำจนสำเร็จ เด็กก็เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง
“การเลี้ยงลูกพ่อแม่ต้องสอน พัฒนาไปตามวัย ให้เขาได้ลงมือทำ ไม่ต้องไปช่วยเด็กทุกเรื่อง ให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะผิดหวังในสิ่งเล็กๆน้อย เรียนรู้ว่าความผิดหวังเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องเจอ แต่เขาก็จะรู้สึกว่าได้ลองทำแล้วก็จะเกิดความภูมิใจ เมื่อโตขึ้นถ้าเจอความผิดหวังที่ใหญ่ขึ้นก็จะเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะไม่มีใครสำเร็จสมหวังไปหมด แต่ต้องก้าวข้ามความผิดหวังให้ได้”
ทักษะ EF ที่สำคัญคือ การควบคุมตัวเอง การที่จะยับยั้งชั่งใจ ติดเบรกให้ตัวเองได้ ถ้าเด็กมีทักษะนี้หรือได้รับการปลูกฝัง แม้จะมีสื่อๆ หรือโซเชีเยล เข้ามาดึงความสนใจทำให้ขาดสมาธิ แต่เด็กจะจัดลำดับความสำคัญได้ รู้อะไรควรทำไม่ควร ตรงนี้เด็กต้องเรียนรู้จะอดทน รู้จักหน้าที่ตัวเอง
“เหมือนฝัน -สิริกรณ์ คุณาวงศ์" ผู้อำนวยการบริษัทอิเมจิเนีย เพลย์แลนด์ กล่าวว่า สวนสนุก IMAGNIA เป็นสวนสนุกปลูกจินตนาการ 3 ภาษา (ไทย-อังกฤษ-ญี่ปุ่น) ซึ่งเน้นเรื่องของการเสริมสร้างพัฒนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ที่ผสมผสานการเล่นแบบคลาสสิคและร่วมสมัยในรูปแบบดิจิตอลอินเตอร์แอคทีฟ สำหรับเด็กอายุ 1-10 ปี และขณะนี้ได้นำแนวคิดการเล่นแบบสร้างทักษะ EF มาใช้ พัฒนารูปแบบการเล่นในโซนต่างๆให้น้องทำความรู้จักตนเอง การควบคุม การรอคอย เช่น Shadow Forest ที่ใช้เงาเป็นสื่อเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับเงา โดยเด็กยืนตรงกลางและทำมือรูปตัววี จากนั้นเขาก็จะกลายเป็นต้นไม้ ที่ค่อยๆเติบโต ซึ่งเด็กต้องยืนนิ่งจนกว่าต้นไม้จะโตออกดอกออกผล ซึ่งพ่อแม่ของเด็กๆสะท้อนว่าประหลาดใจว่าเด็กมีความพยายามอดทนรอ
ขณะนี้ได้เปิดตัวโซนใหม่ 2 โซน ได้แก่ Space Stadium และStomping Ground ที่เด็กได้ฝึกการออกกำลังกาย ฝึกการคิด และเล่นร่วมกับพ่อแม่ได้ด้วย ทั้งนี้ ในโอกาสฉลองปี 3 ตลอดปีนี้ทางสวนสนุกจะมีกิจกรรมพิเศษ IMAGINIA with Guru ให้น้องมาร่วมเวิร์คช็อปกับกูรูด้านต่างๆ เช่น ดนตรี ศิลปะ วรรณกรรม เพื่อกระตุ้นพรสวรรค์เด็กโดยจะได้รับประกาศนียบัตรจากอิเมจิเนีย เปิดบริการจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 10.00-19.00 น.และเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-20.00 น.ณ โซน EM Playground ศูนย์การค้า The Emporium
ปิดท้ายที่ “พีช-สิตมน ผลดี” ที่มาเล่าถึงการเลี้ยงน้องเต็นท์ ว่าการเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัลแบบนี้ที่สิ่งต่างๆทันสมัย สะดวกรวดเร็ว เด็กเรียนรู้ได้มากขึ้น การจะเลี้ยงลูกยุคนี้บอกเลยว่าไม่ง่าย อย่างน้องเต็นท์ ก็จะใช้วิธีการพูดคุยด้วยเหตุและผล ขณะที่พัฒนาการลูก ที่ผ่านมาก็จะได้ศึกษาเรื่องไอคิว อีคิว แต่พอเริ่มมีน้องเต็นท์ เริ่มได้ยินเรื่องของทักษะ EF ก็ศึกษาข้อมูลมาประมาณหนึ่งเพื่อเป็นแนวทางในการเลี้ยงดูน้อง ซึ่งยอมรับว่าความทันสมัยเทคโนโลยีต่างๆเป็นตัวช่วยหนึ่งของพ่อแม่ นำมาช่วยเสริมพัฒนาการของลูกให้เติบโตสมวัย
“ส่วนการเลี้ยงดูน้องเต็นท์ และลูกอีกคนที่กำลังอยู่ในครรภ์พีชและพี่ติ๊ก (เจษฎาภรณ์ ผลดี) ตั้งใจว่าจะสอนให้เขาเป็นเด็กที่รู้จักตัวเอง รู้ว่าต้องการอะไร พร้อมกับ รู้จักควบคุมความต้องการ ความรู้สึกตัวเอง และอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุข” พีช กล่าว
0 เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ [email protected] 0