ไลฟ์สไตล์

ไม่ตาย!!คนไทยยังอ่านหนังสือ

ไม่ตาย!!คนไทยยังอ่านหนังสือ

01 ม.ค. 2561

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า “หนังสือ” กำลังจะตาย ด้วยเหตุข่าวคราวการปิดตัวของหนังสือหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หรือ นิตยสาร

          ผลสำรวจการอ่านของประชากรไทย ปี พ.ศ.2558 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจเรื่องการอ่านมาแล้ว 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2554-2558 พบว่ามีอัตราการอ่านเพิ่มขึ้น โดยปี 2558 พบว่าคนไทยอ่านหนังสือร้อยละ 77.7 หรือ 48.4 ล้านคน อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมากสุด พื้นที่ภาคอีสานน้อยที่สุด ทั้งนี้ หนังสือที่อ่านมากที่สุด คือหนังสือพิมพ์ รองลงมาคือสื่อออนไลน์ บทความทั่วไป วารสาร หนังสือคำสอนทางศาสนา นิตยสาร หนังสืออ่านเล่น การ์ตูน แบบเรียน ตามลำดับ ที่น่าสนใจคือ เวลาในการอ่านเพิ่มจากปี 2556 จาก 37 นาทีต่อวันเป็น 66 นาทีต่อวัน

        ปัจจุบันการใช้ชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่อยู่ในโลกโซเซียลมีเดีย โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ใช้เวลาอยู่ในอินเตอร์เน็ต 4 ชั่วโมงต่อวัน แต่ใช้เวลาอ่านหนังสือไม่ถึงชั่วโมง นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวถึงสถานการณ์การอ่านว่าจากการสำรวจยอดขายของสำนักพิมพ์ต่างๆ พบว่า ยอดขายไม่ได้ตกแต่ย้ายฐานจากซื้อผ่านร้านหนังสือไปเติบโตในออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ E-Commerce มีหลายสำนักพิมพ์ที่ยอดสั่งซื้อออนไลน์แบบเก้ากระโดด

ไม่ตาย!!คนไทยยังอ่านหนังสือ

นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)

       “หนังสือไม่ได้ตาย เพียงแต่ขยายการเติบโตไปยังกลุ่มผู้อ่านมากขึ้น ซึ่งผู้อ่านส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในโลกโซเซียล ทำให้สำนักพิมพ์เกือบทุกแห่งปรับตัวเองไปขายออนไลน์ ขณะเดียวกันด้านผู้ผลิตในไทย สำนักพิมพ์เองทุกคนต่างประเมินผลงานของตนเองว่าที่ผ่านมามีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร และเริ่มรู้แล้วว่าตัวเองถนัดอะไร ควรทำหนังสือแนวไหน มองไปเรื่องคุณภาพหนังสือ ทำตามที่ตัวเองถนัด อีกทั้งก่อนทำมีการยั้งคิดมากกว่าเดิม ไม่ใช่ตลาดทำอะไรก็ทำตามกัน จนล้นตลาดอย่างที่ผ่านมา และทุกคนเริ่มระมัดระวังตัว ดังนั้น การที่ตอนนี้หนังสือใหม่ออกมาน้อย ส่วนหนึ่งเกิดจากการคัดกรองอย่างหนัก คัดเลือกหนังสือที่มีคุณภาพจริงๆ วางแผนในการทำตลาด การประชาสัมพันธ์อย่างดี เพื่อทำให้การสุ่มเสี่ยงขาดทุนน้อยลงแต่คุณภาพดีขึ้น”

     ทางสมาคมฯ ได้ทำการอบรมให้แก่สำนักพิมพ์ต่างๆ รู้จักวิธีการทำเนื้อหาด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ อบรมการขายผ่านออนไลน์ โซเซียลมีเดีย เฟสบุ๊ค ไลน์ เช่น สอนการถ่ายรูปอย่างไรให้น่าสนใจน่าซื้อ การเขียนเนื้อหา การทำการตลาด เพื่อให้ผู้อ่านสนใจ เพิ่มยอดขายให้เติบโตได้มากขึ้น

ไม่ตาย!!คนไทยยังอ่านหนังสือ

     นางสุชาดา กล่าวอีกว่าทางสมาคมฯ กำลังดำเนินการสำรวจวิจัยยอดขายที่เกิดขึ้นในออนไลน์ ว่าเติบโตเพียงใด อีกทั้ง มีสำนักพิมพ์อินดี้เกิดใหม่ คนรุ่นใหม่ที่อยากทำ มีใจทำหนังสือ และไฟแรง เข้าใจบริบทของคนรุ่นเดียวกัน ทำงานเรื่องประชาสัมพันธ์ การเปิดตัวหนังสือได้ดี และคนกลุ่มนี้ จะเป็นคนที่มาแทนที่ และทำให้วงการหนังสือเติบโต

      “ราคา” ไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้คนไทยไม่อ่านหนังสือเช่นเดียวกัน แต่เป็นเรื่อง “คุณภาพ และเข้าถึงหนังสือ” เพราะหนังสือเป็นสินค้าที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา ต่อให้ลดราคาหนังสือ ถ้าหนังสือไม่มีคุณภาพ เนื้อหาไม่น่าสนใจก็ไม่มีใครสนใจซื้อ อีกทั้งการเข้าถึงหนังสือ การกระจายหนังสือก็สำคัญ ถ้าหนังสือไม่ถึงมือผู้อ่านที่สนใจหนังสือประเภทนั้นจริงๆ หนังสือก็ไม่ได้รับการเปิดอ่านอยู่ดี

     นางสุชาดา กล่าวต่อไปว่า การบริจาคหนังสือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการส่งเสริมการอ่าน เพราะเวลาที่ทุกคนบริจาคหนังสือมักจะบริจาคในสิ่งที่ตนเองไม่อยากอ่าน หรือไม่อ่านแล้ว และเมื่อบริจาคหนังสือไปแล้วก็ไม่รู้ว่าหนังสือไปตกอยู่ที่ไหน ถ้าไปตกในพื้นที่ที่คนไม่สนใจหนังสือประเภทนั้น เขาก็ไม่อ่านอยู่ดี การส่งเสริมการอ่าน รักการอ่านก็ถูกปิดไปแต่ถ้าเป็นหนังสือที่คนสนใจ อย่างไรเขาก็สนใจอ่าน ดังนั้น ถ้ามีการบริจาคหนังสือโดยได้ตรงกับความต้องการของผู้อ่านก็ไม่เกิดประโยชน์ ทางสมาคมฯ จึงจะขอรับเงินบริจาค แล้วนำไปซื้อหนังสือให้แก่พื้นที่ที่ขาดแคลนหนังสือ เช่น มอบเงิน10,000บาท ให้ศูนย์เด็กเล็ก มาช็อปในงานสัปดาห์หนังสือ มาเลือกหนังสือที่อยากให้เด็กอ่านจริงๆ จะทำให้เกิดรักการอ่าน เพราะมีเครื่องมือไปถูกกลุ่มและลงถูกพื้นที่

ไม่ตาย!!คนไทยยังอ่านหนังสือ

     “ใน ปี 2561 นี้นอกจากโครงการ 1อ่านล้านตื่นแล้ว จะมีโครงการคัดสรรหนังสือ เพราะบางครั้งผู้อ่านไม่รู้จะอ่านอะไร เนื่องจากหนังสือมีจำนวนมาก โดยจะรีวิวหนังสือให้ทุกหมวด ทั้งหนังสือเด็ก นิยาย วรรณกรรม ที่สมาชิกของสมาคมฯ เป็นผู้ผลิต ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ และกลุ่มชุนชนรักการอ่านเป็นกรรมการคัดกรอง และเมื่อได้รายชื่อหนังสือแล้วจะส่งไปยังสำนักงาน องค์กรต่างๆ เพื่อให้สำนักงานต่างๆ ได้คัดสรรเลือกหนังสือให้เหมาะกับคนในองค์กร ชุมชนของตนเอง เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนต้องอ่าน รวมถึงจะดำเนินการพวงหรีดหนังสือ เรื่องนี้ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงวัฒนธรรม และนำเสนอในวงของกระทรวงต่างๆ แล้ว ซึ่งการเปลี่ยนพวงหรีดดอกไม้เป็นพวงหรีดหนังสือ คือ1พวงหรีดขอมีหนังสือ4เล่ม และต้นปี 2561 จะทำประกวดแบบพวงหรีดหนังสือ เปิดให้ประชาชน ผู้สนใจส่งแบบพวงหรีดหนังสือที่ทำให้เกิดขยะน้อยที่สุด”

     หนังสือที่อยู่ในพวงหรีด หาก วัดหนึ่งแห่งมี1 ศาลา ถ้าศาลาหนึ่งมี100พวงหรีด เราจะได้หนังสือ400เล่ม ถ้าวัดนั้นมีโรงเรียนวัด ห้องสมุดโรงเรียนจะมีหนังสือใหม่ๆ ซึ่งเรื่องนี้ ทางสมาคมฯ จะหารือกับร้านพวงหรีด ซึ่งหนังสือก็ไม่ใช่หนังสือธรรมะอย่างเดียว ต้องมีหนังสือเด็ก หนังสืออาหาร รายชื่อหนังสือแนะนำ หนังสือคัดสรรส่งไปยังร้านพวงหรีด และขอความร่วมมือกับสมาชิกลดราคาให้แก่ร้านพวงหรีด จะทำให้หนังสือเข้าวัด ชุมชน โรงเรียนได้ง่าย

ไม่ตาย!!คนไทยยังอ่านหนังสือ

      นายกสมาคมฯ กล่าวอีกว่ากระแสอาจมองว่าเด็กไม่อ่านหนังสือ แต่จริงๆ แล้วเด็กวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่อ่านหนังสือมากที่สุด โดยแนวหนังสือที่เด็กสนใจจะเป็นแนวการ์ตูน มังงะ นิยายวาย นางสุชาดา กล่าวต่อไปว่าการส่งเสริมการอ่านที่ดี ต้องเริ่มจากคนในครอบครัว พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก มีชั้นหนังสือ มีมุมหนังสือในบ้านก็ทำให้เขาเกิดความสนใจในการอ่าน ครู โรงเรียนต้องมีห้องสมุด มีหนังสือดีๆ แต่ทุกวันนี้ ระบบการเรียนการสอนของไทยทำให้เด็กไทยเบื่อหนังสือ เบื่อการอ่าน เพราะเขาไม่มีเวลา ห้องสมุดก็ต้องเป็นห้องสมุดมีชีวิต และร้านหนังสือต้องเป็นมิตรกับลูกค้า ปล่อยอิสระให้ผ่านได้เลือก และอย่ายัดเยียดให้เด็กอ่านหนังสือ

       ขณะนี้ทางกระทรวงวัฒนธรรม เจ้าภาพหลักในการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมการอ่าน โดยมีเป้าหมายจะผลักดันให้การอ่านเพิ่มมากขึ้น90นาทีต่อคนต่อวัน ให้ได้ภายใน5ปี หรือปี2564 หลังจากนี้คงต้องดูว่าภาครัฐจะดำเนินการอย่างไร ในส่วนของสมาคมฯ นั้น เป็นอีกหนึ่งภาคีที่มีการเชื่อมโยงบูรณาการเข้ากับกระทรวงต่างๆ ในการพัฒนาคน ส่งเสริมการอ่าน ต้องดูว่าภาครัฐจะทำอย่างไร

ไม่ตาย!!คนไทยยังอ่านหนังสือ

       “ตามแผนแม่บทส่งเสริมการอ่านนั้น เนื้อหา กิจกรรม เป็นแผนที่ค่อนข้างทำได้จริงและเห็นผล แต่เมื่อมาดูเรื่องงบประมาณ มีการเสนอขอไป30ล้านบาท แต่ได้รับสนับสนุนเพียง10ล้านบาทคงบอกได้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะผลักดันให้เกิดสังคมการอ่านขึ้นในประเทศไทย ถ้าหากงบฯ สนับสนุนเรื่องนี้ยังน้อยอยู่”

      นางสุชาดา บอกว่าทำงานที่สมาคมมาเกือบ10ปี เดินสายหาภาครัฐผลักดันให้มีวาระการอ่านแห่งชาติ ทศวรรษการอ่านมาตลอด ซึ่งเรื่องที่มีปัญหา คือ งบประมาณ ดังนั้น หากทุกคนมองเห็นความสำคัญในการพัฒนาคน ซึ่งเป็นทุนมนุษย์เป็นทุนที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประเทศยิ่งในยุค 4.0 คนไทยต้องมีคุณภาพมีความรู้ความสามารถมากขึ้น และจะมีความสามารถได้ต้องเกิดจากการอ่าน เพราะการอ่านทำให้คนคิดวิเคราะห์เป็น หากประเทศไม่มีงบประมาณในการส่งเสริมการอ่าน การทำกิจกรรม งบประมาณในการซื้อหนังสือให้แก่ห้องสุดของภาครัฐ จะทำให้เกิดสังคมการอ่านได้อย่างไร

       0 ชุลีพร อร่ามเนตร รายงาน 0