EF Guideline เครื่องมือช่วยครูปฐมวัย
3 หน่วยงานพันธมิตรภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership วิจัย การค้นคว้าและพัฒนาเครื่องมือช่วยครูวิเคราะห์แผนการเรียนการสอน เพื่อการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า
นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ผู้จัดการโครงการ “การพัฒนาองค์ความรู้และขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะสมองเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนในประเทศไทย” โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เด็กไทยต้องได้รับการฝึกฝนให้สามารถกำหนดเป้าหมายของตนเอง มีความมานะพยายาม ความมุ่งมั่นไปให้ถึงเป้าหมาย พร้อมกับการมีความสามารถในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ให้เป็นคนที่ “คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และมีความสุขเป็น” นั่นหมายถึงการมีทักษะสมองเพื่อจัดการชีวิตให้สำเร็จ หรือ Executive Functions (EF)
นางสุภาวดี หาญเมธี
จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกันของพันธมิตรทางวิชาการ ซึ่งรวมตัวกันในนามภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership เพื่อพัฒนานวัตกรรมการออกแบบการสอน EF Guideline เครื่องมือช่วยครูปฐมวัย ในการพัฒนาทักษะสมองเด็กไทย สู่ศตวรรษที่ 21
อย่างไรก็ตาม ครูปฐมวัยต้องเปลี่ยนมุมมองและวิธีจัดการเรียนการสอนให้เป็นแบบ Active Learning ,ผู้บริหารโรงเรียนต้องเปลี่ยนความเข้าใจต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในโรงเรียน และปรับเปลี่ยนทัศนคติมุมมองต่องานของครูปฐมวัย หันมาให้การสนับสนุนครูปฐมวัยอย่างเต็มที่ ,พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน สังคม ต้องเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ ต่อเป้าหมายด้านการศึกษาของลูกหลาน
รวมถึงกระบวนการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก,ระดับนโยบายของประเทศต้องเปลี่ยนความคิดความเข้าใจในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้ถูกทิศทาง ไม่ตามกระแสค่านิยมที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็ก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทักษะสมอง EF จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้านักวิจัยทั้ง 2 โครงการนี้ กล่าวว่า “EF Guideline เป็นเครื่องมือที่ช่วยครูปฐมวัยในการจัดระบบความคิด และวิเคราะห์ เพื่อออกแบบ “การจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมทักษะสมอง EF” สำหรับครูปฐมวัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร
ซึ่งมี 3 องค์ประกอบหลักสำคัญ 1.เป้าหมาย คือ การให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายการสอนที่ชัดเจน ว่าจะนำไปสู่เป้าหมายใด เจตคติ ความรู้ หรือทักษะใด มุ่งพัฒนาทักษะสมอง EF ด้านใด รวมทั้งการกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถประเมินได้
2.กระบวนการ คือ การให้ความสำคัญกับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ สอดคล้องกับเป้าหมาย เป็นลำดับขั้นตอน และครูเห็นได้ว่าในแต่ละขั้นตอนนั้น จะส่งเสริมทักษะสมอง EF ด้านใดบ้าง รวมไปถึงการจัดสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นการทำงานของทักษะสมอง EF
3.การประเมิน คือ การให้ความสำคัญกับการทบทวนโอกาสในการส่งเสริมทักษะสมอง EF ที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดกิจกรรม รวมถึงการทบทวนขั้นตอน และกระบวนการสอนให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่คาดหวัง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแผนการจัดประสบการณ์ให้มีประสิทธิภาพในครั้งต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา กล่าวต่อไปว่า EF Guideline ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็น “เพื่อน คู่ คิด” ของครูปฐมวัย ใช้ประโยชน์ได้ 2 ทาง คือ ใช้เป็นแนวทางการวิเคราะห์กิจกรรมในแผนการจัดประสบการณ์เดิมว่าองค์ประกอบแต่ละส่วน มีความชัดเจน และสอดคล้องกันหรือไม่ และใช้เป็นแนวทางการออกแบบกิจกรรมใหม่ๆ โดยใช้องค์ประกอบแต่ละส่วนเป็นตัวนำทาง ให้กิจกรรมที่ออกแบบขึ้นมานั้นมีเป้าหมายชัดเจน
เหตุผลหลักที่ครูปฐมวัยควรใช้ EF Guideline” 1. EF คือ เป้าหมายของการศึกษาที่แท้จริง นั่นคือ การพัฒนาให้เด็กมีทักษะความสามารถในการคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ แก้ไขปัญหา วางแผน ควบคุมอารมณ์ คิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่เพื่อสอบเอาคะแนนอย่างเดียว และพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่คนที่ท่องหนังสือเก่ง มีความรู้จดจำตำรับตำราได้มากที่สุดอีกต่อไป แต่ต้องการคนที่มีทักษะความสามารถในการคิดค้น ประยุกต์เป็น และลงมือสร้างสรรค์นวัตกรรมพัฒนาชาติได้ นั่นก็คือคุณสมบัติของผู้ที่มีทักษะสมอง EF แข็งแรงนั่นเอง
2. EF Guideline ช่วยให้ครูวางแผนการเรียนรู้ให้เด็กได้แยบยลขึ้น เพราะครูจะมองเห็นเป้าหมายชัดเจนขึ้น และคิดเป็นระบบขึ้นว่า เพื่อให้ได้เป้าหมายที่ต้องการ กระบวนการขั้นตอนที่จะออกแบบให้เด็กได้เรียนรู้นั้น ควรเป็นอย่างไร จึงจะสอดคล้องกัน EF Guideline จะช่วยจัดระบบความคิดและช่วยให้ครูเสมือนมี “เลนส์EF” ที่มองรายละเอียดของคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กชัดเจนขึ้น
3. EF Guideline จะทำให้ครูมีความมั่นใจ สามารถออกแบบแผนการเรียนรู้ให้เด็กด้วยตนเอง ที่เหมาะสมกับสภาพบริบทของตนเอง และเหมาะสมกับสภาพของเด็กที่ครูดูแลอยู่ ครูจะเก่งขึ้น ได้ใช้ศักยภาพคิดค้นพลิกแพลงกระบวนท่าในการเรียนการสอนได้หลากหลายด้วยตนเอง
จากงานวิจัยครั้งนี้พบว่า เด็กกลุ่มทดลองที่คุณครูนำ EF Guideline ไปใช้ในการจัดประสบการณ์ในชั้นเรียน ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้มีคะแนนเฉลี่ยทักษะสมอง EF มากกว่าค่า Norm ของเด็กไทยในทุกภูมิภาค ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยถึงการนำผลการศึกษาไปประยุกต์ใช้ระบุว่า
1.การเขียนแผนการจัดประสบการณ์โดยการใช้ EF Guideline คุณครูต้องดำเนินการอย่างทุ่มเทและต่อเนื่อง จะส่งผลต่อการพัฒนาการเขียนแผนการจัดประสบการณ์ของครู
2.การส่งเสริมการใช้ EF Guideline ให้กับคุณครูระดับปฐมวัย โดยการปรับให้มีความสอดคล้องกับบริบท สังคม และวัฒนธรรมของโรงเรียน
3.การจัดอบรมการใช้ EF Guideline ให้กับคุณครูที่มีความสนใจในระดับช่วงชั้นอื่น เพื่อขยายองค์ความรู้ให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ รวมทั้งจัดให้มีเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ EF Guideline เพื่อพัฒนาการใช้ EF Guideline ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
EF Guideline จึงเป็น “เพื่อนคู่คิด” ของครูปฐมวัย ช่วยกระตุกความคิด ทำให้ครูสามารถวางแผนการสอนได้ประณีตมากขึ้น ทำให้ครูมั่นใจในการเขียนแผนการประสบการณ์ และรู้ว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้...เพราะเราจริงๆ อีกทั้งยังทำให้ครูรู้สึกรักและภูมิใจในอาชีพตัวเองมากยิ่งขึ้น