"ระบบบริการสาธารณสุข"คนไทยเข้าถึงแต่ยังเหลื่อมล้ำ
"ระบบบริการสาธารณสุข"คนไทยเข้าถึงแต่ยังเหลื่อมล้ำ : รายงาน โดย... พวงชมพู ประเสริฐ [email protected]
นับตั้งแต่ปี 2545 อาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นที่ทำให้คนไทยลดภาวะที่เรียกว่า “ล้มละลาย” จากค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มีผลบังคับใช้ ทำให้คนไทยที่ไม่ได้อยู่ในสิทธิรักษาพยาบาลระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ มีสิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” ที่เป็นประกันสุขภาพภาครัฐ ส่งผลให้อัตราการเข้าถึงบริการระบบสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น ในปี 2556 อัตราผู้ป่วยนอก 155 ล้านครั้ง ผู้ป่วยใน 12 ล้านวัน เป็นกว่า 300 ล้านครั้ง และ 29 ล้านวัน ในปี 2560 แต่ในมุมมองของภาคประชาสังคมเห็นว่า “แม้คนไทยเข้าถึงมากขึ้นแต่ยังเหลื่อมล้ำ” !!!!
ก่อนหน้านี้ในราวปี 2556 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ได้มีการระบุถึงเรื่อง “สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง” ว่า หลังจากที่มีบัตรทองส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพลดลงอย่างเป็นรูปธรรม เห็นได้จาก 1.การเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเฉพาะทาง เช่น ต้อกระจก หัวใจ มะเร็ง 2.ประสิทธิภาพในการรักษาโรคเรื้อรังอย่างความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีแนวโน้มดีขึ้น และ 3.ความยากจนเนื่องจากภาระรายจ่ายด้านสุขภาพลดลง
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ 3 กองทุน คือ บัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการออกแบบระบบและการแยกส่วนกลไกการอภิบาลระบบประกันสุขภาพ ได้แก่ การเลือกปฏิบัติระหว่างสิทธิที่แตกต่างกัน เช่น ข้าราชการมีแนวโน้มได้รับยาราคาแพงมากกว่าผูู้ป่วยบัตรทอง และความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ เช่นการกระจายของทรัพยากรและคุณภาพของบริการ
ทั้งนี้ มีการให้ข้อเสนอในการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.กลไกอภิบาลระบบสุขภาพระดับชาติ 2.บูรณาการการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพ 3.การกระจายอำนาจการพัฒนาและจัดบริการสุขภาพสู่ระดับเขตและพื้นที่ในลักษณะพวงบริการ 4.การกำหนดเป้าหมายในการยกระดับและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนและพื้นที่ 5.การแก้ไขปัญหาข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมมาตร 6.การวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ และ 7.การกำหนดกลุุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาสที่ต้องการการดูแลพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการเพื่อลดภาระของระบบในระยะยาว
ช่วงเวลาที่ผ่านมาแทบจะทุกรัฐบาลมีการรับรู้ประเด็นของความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุข และมีความพยายามที่จะขยับผลักดันให้เกิด “ระบบสุขภาพหนึ่งเดียว” หลายครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องของ “การรวมกองทุน” หมายถึงการรวมระบบประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุนเป็นกองทุนเดียว แต่ได้รับเสียงคัดค้านจากผู้ใช้สิทธิ์สวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมว่าเป็นการ “ลิดรอนสิทธิ์” แต่มีการดำเนินการ “โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่” หรือ UCEP(Universal Coverage for Emergency Patients) ซึ่งคนไทยทุกคนเมื่อมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติสามารถเข้ารับบริการการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ์ ไม่ว่าจะมีสิทธิอยู่ในระบบประกันสุขภาพภาครัฐใด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในช่วงเวลา 72 ชั่วโมงแรก ถือเป็นหนึ่งในนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในการรับบริการระบบสาธารณสุขอย่างหนึ่ง
จนถึงปัจจุบัน นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือ กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพภาครัฐ 3 กองทุนแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การให้บริการด้านสาธารณสุข ที่ยังพบว่ามีความแตกต่างกันเมื่อผู้เจ็บป่วยเดินเข้าไปรับบริการการรักษา แม้แพทย์จะให้การรักษาเหมือนกัน แต่การให้ยาหรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาดูแลสุขภาพยังมีความแตกต่างกันทั้งที่เป็นคนไทยเหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องดำเนินการแก้ไขให้ระบบบริการสาธารณสุข เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับบริการคุณภาพและมาตรฐานที่เหมือนกันเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องคำนึงถึงเศรษฐสถานะของบุคคลนั้น
และ 2.งบประมาณที่สนับสนุน 3 กองทุน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุข โดยข้าราชการสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้โดยมีเพดานที่สูงมาก เฉลี่ยต่อคนต่อปีราว 12,000 บาท ขณะที่ระบบบัตรทองมีเพดานงบเหมาจ่ายรายหัวต่อคนต่อปีอยู่เพียงราว 3,000 บาทต่อคนต่อปี เพราะฉะนั้นหากสามารถดำเนินการให้มีการจัดสรรงบประมาณได้เท่าเทียมในทุกระบบประกันสุขภาพภาครัฐไปสู่โรงพยาบาล เชื่อว่าความเหลื่อมล้ำจะไม่เกิดขึ้น หรือแม้แต่ในระบบประกันสังคมก็มีความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากเป็นระบบเดียวที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ส่วนอีก 2 ระบบรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณโดยผ่านระบบภาษี แต่คนในระบบประกันสังคมต้องจ่าย 2 เท่าจากภาษีและเงินสมทบรายเดือน
ข้อเสนอของกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ในการลดความเหลื่อมล้ำ นางสุภาพร บอกว่า เรื่องสำคัญที่รัฐบาลควรเริ่มต้นดำเนินการคือ เรื่องเงินสนับสนุนหน่วยบริการ รัฐควรใช้อัตราเดียวกันในการสนับสนุนงบค่าหัวในการรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนทุกคนไปยังหน่วยบริการ ขณะเดียวกันเมื่อดำเนินการในการแนวทางนี้ต้องไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ โดยจะต้องยกระดับอัตราค่าหัวของบัตรทองขึ้นไปเท่ากับข้าราชการ จะทำให้การปฏิบัติในการให้บริการไม่มีความแตกต่าง เพราะการจะลดอัตราของข้าราชการลงมาเท่ากับบัตรทองจะเป็นการกระทบสิทธิ์ข้าราชการ
นางสุภาพร ยืนยันว่า ประเทศนี้ยังสามารถจัดสรรทรัพยากรมาดูแลสุขภาพของคนในประเทศได้ เพราะเมื่อดูจากการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินจะพบว่าสัดส่วนการลงทุนด้านสุขภาพหรือด้านสาธารณสุขต่ำมาก ไม่ถึง 20% ของจีดีพีของประเทศ และยังพบว่าไม่สามารถจัดเก็บภาษีหลายอย่างได้ ปัจจุบันภาษีที่ใช้ในประเทศเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่เอามาจากคนจน แต่ภาษีที่เป็นภาษีรายได้ที่ควรจะเข้ารัฐมากกว่านี้ ประเทศนี้ยังเก็บไม่ได้ ทั้งนี้ ควรเข้าใจว่าหากลงทุนด้วยทรัพยากรด้านสุขภาพกับประชาชนแล้วประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้นคุ้มค่ามาก คุ้มค่ากว่าการนำไปซื้ออะไรอย่างอื่นอีกมาก
“การเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขของคนไทยดีขึ้นแน่นอนเห็นได้อย่างชัดเจน คนไม่ต้องล้มละลายจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการเข้ารับการรักษาพยาบาล แต่ความแตกต่างในการให้บริการยังมีอยู่ และมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นในระหว่างคนไทยด้วยกัน” นางสุภาพรกล่าว
การลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุขเป็นสิ่งที่ควรจะดำเนินการเพื่อลดช่องว่าง ขณะเดียวกันจะต้องไม่กระทบต่อสิทธิ์ของบุคคลอื่นทั้งในมุมของผู้รับบริการและผู้ให้บริการ