ไลฟ์สไตล์

ยกระดับคุณภาพคนไทย 4.0เรียนรู้ สร้างนวัตกรรม พลเมืองเข้มแข็ง

ยกระดับคุณภาพคนไทย 4.0เรียนรู้ สร้างนวัตกรรม พลเมืองเข้มแข็ง

18 มี.ค. 2562

โดย...-ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] -


 


          สกศ.เดินหน้าทำความเข้าใจมาตรฐานการศึกษาของชาติ สู่หน่วยงานปฏิบัติ ต้นสังกัดจัดทำมาตรฐานการศึกษาแต่ละระดับให้สอดคล้อง มุ่งสร้างคุณภาพผู้เรียนยุค 4.0 ชู 3 คุณลักษณะ ผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และพลเมืองที่เข้มแข็ง “สพฐ.” วางกรอบปรับหลักสูตร ยกระดับสถานศึกษา ขณะที่ “อาชีวะ” จัด 3 มาตรฐาน 9 ประเด็นการประเมิน สร้างคนสร้างนวัตกรรม และ "อุดมศึกษา” กำหนด 5 มาตรฐาน สะท้อนสถาบันอุดมศึกษาเข้าใจบทบาทตามบริบทของแต่ละแห่ง

 

 

          เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบ “มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2561” ซึ่งเป็นการวางรากฐานสร้างผู้เรียน คนรุ่นใหม่ให้มีคุณลักษณะของคนไทย 4.0 พัฒนาคน สร้างตัวตนให้เป็นผู้มีความรู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยกำหนดคุณลักษณะขั้นต่ำ กรอบกว้างๆ เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งยึดเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาผู้เรียนไปสู่ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา และให้หน่วยงานต้นสังกัดใช้เป็นเป้าหมายในการจัดการศึกษา กำหนดมาตรฐานการศึกษาแต่ละระดับที่เหมาะสมตามช่วงวัย ประเภทการศึกษา และบริบทแต่ละพื้นที่

 


          3คุณลักษณะคนไทย4.0
          เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “มาตรฐานการศึกษาสู่การยกระดับคุณภาพคนไทย 4.0” เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการศึกษาของชาติแก่ผู้ปฏิบัติงานและหน่วยงานต้นสังกัด   โดย ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติร่วมกับหน่วยงานองค์กรหลักที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของประเทศ ถือเป็นกรอบสำหรับสร้างคนไทย 4.0 ที่แตกต่างตามบริบทของแต่ละสังกัด ระดับการศึกษา สถานศึกษาและท้องถิ่น


          ซึ่งมาตรฐานการศึกษาของชาติมีการกำหนดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา 3 ด้าน คือ 1.ผู้เรียนรู้ เพื่อสร้างงานและคุณภาพชีวิตที่ดี 2.ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อสังคมที่มั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน และพลเมืองที่เข้มแข็งเพื่อสันติสุข โดยต้องมีค่านิยมร่วมในการสร้างความเพียร  ความพอเพียง วิถีประชาธิปไตย และความเท่าเทียมเสมอภาค ควบคู่กับการมีคุณธรรม ลักษณะนิสัยที่ดีและคุณธรรมพื้นฐานที่เป็นความดีงาม เช่น ความมีวินัย ขยัน ซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

 



          ปรับหลักสูตรสถานศึกษา
          ดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.ได้จัดทำมาตรฐานเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2561 ที่เน้นเพื่อเป็นผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และพลเมืองที่เข้มแข็ง ซึ่งมิติคุณภาพผู้เรียน สพฐ.ได้ปรับหลักสูตรเป็นแผนแม่บททำให้ผู้เรียนมีมาตรฐานตามเป้าหมายที่กำหนด 


          รวมถึงสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษา ครู ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะคุณภาพผู้เรียน สถานศึกษาเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากห้องเรียน กระบวนการพัฒนาคุณภาพในโรงเรียน การจัดการเรียนการสอนต้องเข้มแข็ง แผนกิจกรรมในโรงเรียน สอดคล้องบริบท สภาพของโรงเรียน โดยสพฐ.จะต้องส่งเสริม สนับสนุนงบประมาณ การวิจัย พัฒนาสื่อสาร การสร้างความเข้าใจ มีความต่อเนื่องในการทำงานเพื่อนำไปสู่การสร้างคุณภาพของสถานศึกษา

 


          สร้างคนสร้างนวัตกรรม
          ดร.สมพร ชูทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยพาณิชยการเชตุพน กล่าวว่า อาชีวศึกษาได้กำหนดมาตรฐานการอาชีวศึกษา พ.ศ.2561 ในการจัดการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และการฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อสร้างคนสร้างนวัตกรรม โดยกำหนด 3 มาตรฐาน 9 ประเด็นการประเมิน คือ 1.มาตรฐานคุณลักษณะของผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษาที่พึงประสงค์ 


          โดยมีประเด็นการประเมินดังนี้ 1.ด้านความรู้  2.ด้านทักษะและการประยุกต์ใช้ และ 3.ด้านคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ 2.มาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษา สถานศึกษา ต้องใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมีประเด็นการประเมิน ดังนี้ 4.ด้านหลักสูตรอาชีวศึกษา 5.ด้านการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา 6.ด้านการบริหารจัดการ 7.ด้านการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ และ 3.มาตรฐานการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ต้องร่วมมือกับชุมชน องค์กรต่างๆ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยมีประเด็นการประเมิน ดังนี้ 8.ด้านความร่วมมือสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และ 9.ด้านนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ งานสร้างสรรค์ และงานวิจัย

 


          อุดมศึกษาผลิตคนตามบริบท
          น.ส.นุชนภา รื่นอบเชย รักษาการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา กล่าวว่า สำหรับมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ.2561 นั้น ไม่ได้กำหนดโดยมุ่งดูผลลัพธ์ของผู้เรียนเพียงอย่างเดียว เพราะบทบาทหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาไม่ใช่ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ต้องทำหน้าที่ด้านศึกษาวิจัย สร้างนวัตกรรม การบริการวิชาการ และการดำรงศิลปวัฒนธรรมความเป็นไทย ดังนั้นมาตรฐานการอุดมศึกษาจะเป็นการสะท้อนให้สถาบันอุดมศึกษากระทำในสิ่งที่สอดคล้องกับบริบทและความหลากหลายของอุดมศึกษาแต่ละแห่ง 


          ซึ่งได้กำหนด  5 มาตรฐาน ดังนี้ 1.มาตรฐานผลลัพธ์ผู้เรียน ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ บูรณาการศาสตร์ต่างๆ มีความกล้าหาญทางจริยธรรม 2.มาตรฐานด้านการวิจัยและนวัตกรรม ใช้องค์ความรู้ใหม่ สร้างสรรค์นวัตกรรมหรือทรัพย์สินทางปัญญา ตามศักยภาพและอัตลักษณ์ของสถาบันการศึกษา 3.ด้านการบริการวิชาการ สอดคล้องกับบริบทและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น ชุมชน และสังคม 4.มาตรฐานด้านศิลปวัฒนธรรมและความเป็นไทย และ 5.ด้านการบริหารจัดการ  มีหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาผู้เรียนแบบบูรณาการ 


          กรอบสร้างคนแต่ละช่วงชั้นตามมาตรฐานการศึกษาชาติ
          1.ปฐมวัย 

          -พัฒนาการรอบด้านและสมดุล
          -สนใจเรียนรู้กำกับตัวเองให้ทำสิ่งต่างๆ เหมาะสมตามช่วงวัยสำเร็จ

          2.ประถมศึกษา 
          -ผู้เรียนรู้ต้องรักและรับผิดชอบต่อการเรียนรู้
          -ชอบการอ่าน มีความรู้พื้นฐาน ทักษะและสมรรถนะทางภาษาการคำนวณ
          -มีเหตุผล มีนิสัยและสุขภาพที่ดี
          -ทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความรู้ ทักษะและสมรรถนะทางเทคโนโลยีดิจิทัล
          -การคิดสร้างสรรค์สื่อสารและความรอบรู้ด้านต่างๆ
          -พลเมืองที่เข็มแข็ง ต้องแยกแยะผิดถูก


          3.มัธยมศึกษาตอนต้น 
          -ต้องรู้จักตนเองและผู้อื่น
          -มีเป้าหมายและทักษะการเรียนรู้บริหารจัดการตนเอง
          -มีทักษะการทำงานร่วมกัน สื่อสาร รอบรู้ทางข้อมูลสารสนเทศและดิจิทัล
          -เชื่อมั่นในความถูกต้อง ยุติธรรม มีจิตประชาธิปไตย


          4.มัธยมศึกษาตอนปลาย/อาชีวศึกษา 
          -สามารถชี้นำการเรียนรู้ด้วยตนเอง
          -มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต รอบรู้ รู้ทันการเปลี่ยนแปลง
          -สามารถแก้ปัญหา สื่อสารเชิงบวก ทักษะข้ามวัฒนธรรม
          -สะท้อนความคิด วิพากษ์เพื่อสร้างนวัตกรรม
          -เป็นผู้ประกอบการได้
          -สร้างให้เชื่อมั่นในความเท่าเทียม เป็นธรรม มีจิตอาสา


          5.อุดมศึกษา  
          -ต้องสร้างผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต
          -พร้อมเผชิญความเปลี่ยนแปลง
          -มีความเป็นผู้นำเพื่อสร้างสัมมาอาชีพที่ดี
          -ร่วมแก้ไขปัญหาสังคม
          -บูรณาการข้ามศาสตร์ สร้างสรรค์นวัตกรรม
          -กล้าต่อต้านการกระทำในสิ่งที่ผิดให้คุณค่ากับความรู้
          -ความสามารถร่วมมือสร้างสรรค์การพัฒนาที่ยั่งยืน
          -ขจัดความขัดแย้งและสร้างสันติสุขทั้งในสังคมไทยและประชาคมโลก
          ที่มา :มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2561