ไลฟ์สไตล์

ฉันมาจาก"ศรีธัญญา"ลดตีตรา-เปิดใจ-ให้โอกาส 

ฉันมาจาก"ศรีธัญญา"ลดตีตรา-เปิดใจ-ให้โอกาส 

09 เม.ย. 2562

โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ  [email protected]    


 

          “การตรวจสุขภาพจิตไม่ใช่เป็นสิ่งน่าอาย แต่เป็นสิ่งที่คนซึ่งรู้จักดูแลตนเองจะต้องใส่ใจ เพราะใน 5 คน จะมี 1 คนที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช” นพ.เกียริตภูมิ วงศ์รจิต   

 

 

          เมื่อพูดถึงการเข้ารับการรักษา “โรคทางจิต” คนไทยจำนวนมากยังมีิอคติในด้านลบ อันเกิดจากการตีตราผู้ป่วยจิตเวช แม้อาจจะมีปัญหาสุขภาพจิตก็ไม่กล้าที่จะบอกหรือเล่าให้ใครรู้ หรือไม่แม้แต่จะเข้ารับบริการรักษาอาการเจ็บป่วย ทั้งที่คาดการณ์ว่าคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวชประมาณ 7 ล้านคน           
 

          จากข้อมูลกรมสุขภาพจิต  ระบุว่าการดูแลรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวช โดยเฉพาะใน 4 กลุ่มหลักที่เป็นผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่พบบ่อยแต่การเข้าถึงบริการที่ผ่านมายังน้อย แต่มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ 1.ผู้ป่วยจิตเภทเข้าถึงบริการ 76% โรคซึมเศร้าเข้าถึง 56% เด็กออทิสติกเข้าถึง 44 % และโรคสมาธิสั้นเข้าถึง 13% 

 

 

ฉันมาจาก\"ศรีธัญญา\"ลดตีตรา-เปิดใจ-ให้โอกาส 

 

 

          ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หนึ่งในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกๆ ของเมืองไทย และถูกนำชื่อไปนำเสนอผ่านสื่อหรือรับรู้ในสังคมเชิงลบอย่างมาก ประหนึ่งคนที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นคนไม่ดี แม้รักษาหายแล้วก็ไม่มีใครอยากจะคบค้าด้วย   จึงจัดกิจกรรมเปิดบ้าน “A Day in the Life : หนึ่งวันกับ ศรีธัญญา ที่คุณจะรัก และกล้าออกไปบอกใครๆ ว่า...#IAmFrom ศรีธัญญา” มุ่งหวังให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อ โรงพยาบาลจิตเวชและผู้ป่วย ส่งเสริมการเข้าถึงบริการ


          นิติพงษ์ ห่อนาค ที่ปรึกษามูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา บอกว่า #IAMFROM ศรีธัญญา เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการที่อยากให้สังคมช่วยพาคำว่าศรีธัญญาออกจากเงาทะมึนแห่งมโนภาพเดิมๆ ที่มองเป็นเรื่องตลก หรือดูน่ากลัว มีแต่คนสติไม่ดี ซึ่งอยากให้มาเห็นความเป็นจริงว่าสถานพยาบาลแห่งนี้ คือเพื่อนของผู้ไม่สบายทางจิตใจ เป็นโรงพยาบาลที่สวยงาม สะอาดสะอ้าน ร่มรื่น 

 

 

 

ฉันมาจาก\"ศรีธัญญา\"ลดตีตรา-เปิดใจ-ให้โอกาส 

 



          “อยากให้ช่วยกันพาศรีธัญญาก้าวออกมาจากสัญลักษณ์เก่าๆ เพื่อให้คนทำงานในศรีธัญญาเดินหน้าตรงด้วยความภาคภูมิใจในงานที่ทำ ให้ผู้ที่ไม่สบายใจกล้ามาปรึกษาหมอ ให้ผู้ที่เคยป่วย แล้วรักษาหายเดินเข้าสู่สังคมได้อย่างเป็นที่ยอมรับต่อไป ซึ่งเราทุกคนสามารถช่วยได้” นิติพงษ์กล่าว 
   

          ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต  กล่าวว่า ภาพของโรงพยาบาลจิตเวชในความคิดของคนไทยเป็นเหมือนแดนสนธยา ใครๆ ก็กลัว ใครๆ ก็เกรง เป็นมุมมืดที่ไม่มีใครกล้าเข้า และไม่รู้ว่าเข้ามาแล้วทำอะไรบ้าง แต่ต้องอยู่นาน 3 เดือน  1 ปี หรือตลอดชีวิต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างการรับรู้ใหม่ให้แก่คนไทยเข้าใจว่าการตรวจสุขภาพจิตไม่ใช่เป็นสิ่งน่าอาย แต่เป็นสิ่งที่คนซึ่งรู้จักดูแลตนเองจะต้องใส่ใจ เพราะใน 5 คน จะมี 1 คนที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช เมื่อต้องเข้ารับการรักษาแล้วอาการดีขึ้นหรือหายก็สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้     
 

 

 

ฉันมาจาก\"ศรีธัญญา\"ลดตีตรา-เปิดใจ-ให้โอกาส 

 

 

          “การที่สังคมยังคงมีอคติต่อผู้มีปัญหาทางจิต ตราหน้าว่าเป็นผู้อ่อนแอ ล้มเหลว ดูน่ากลัว จึงยิ่งทำให้พวกเขาไม่กล้าเปิดเผยตัว ไม่กล้าเข้าสู่ระบบบริการ ตอกย้ำตราบาป (stigma) ลดคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาให้น้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งในความเป็นจริงผู้ป่วยจิตเวชเหล่านี้สามารถรักษาให้หายและกลับคืนสู่สังคมได้ สามารถประกอบอาชีพ ใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป ยิ่งเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ ได้เร็วเท่าไรยิ่งดี” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
   

          สำหรับโรงพยาบาลศรีธัญญาเป็นโรงพยาบาลจิตเวชของรัฐแห่งแรกในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการจัดสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรทุกจุดบริการ มีการจัดบริการหอผู้ป่วยพิเศษเดี่ยววีไอพี ที่มีคุณภาพการบริการเทียบเท่าเอกชน พัฒนารูปแบบการรักษาด้วยไฟฟ้า (อีซีที เซ็นเตอร์) พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้วยการจัดตั้งศูนย์ฝึกซ้อมช่วยฟื้นคืนชีพ (ซีพีอาร์ เซ็นเตอร์) ตลอดจนจัดกิจกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชที่หลากหลาย
  

 

 

ฉันมาจาก\"ศรีธัญญา\"ลดตีตรา-เปิดใจ-ให้โอกาส 

 

 

          นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า อยากให้โรงพยาบาลจิตเวชเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนของสังคม ไม่อยากให้รู้สึกแปลกแยก หรือหวาดกลัวในการมาโรงพยาบาลทางจิต เพราะไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด ซึ่งอนาคตโรงพยาบาลจิตเวชสังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศอีก 20 แห่งก็จะมีการพัฒนาในแนวคิดเดียวกับโรงพยาบาลศรีธัญญาเช่นกัน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตทั้งประเทศที่จะสามารถกล้าเข้าถึงบริการโดยใช้ระยะเวลา 3 ปี แบ่งเป็นปีละราว 6 แห่ง
  

          นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผอ.รพ.ศรีธัญญา และประธานมูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า  โรงพยาบาลมีการพัฒนาเป็นอย่างมาก อยากให้สังคมเกิดความเข้าใจ รับรู้ถึงบทบาทการดำเนินงานของหน่วยบริการด้านจิตเวชในปัจจุบัน เกิดทัศนคติที่ดีกับโรงพยาบาลศรีธัญญา และหน่วยบริการด้านจิตเวช ให้เห็นถึงการปรับภาพลักษณ์ของหน่วยบริการ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการ การให้บริการคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ ได้สัมผัสกับการให้บริการด้านจิตเวชยุค 4.0 ที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในระบบการบริหารจัดการ ช่วยให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น           
  

 

 

ฉันมาจาก\"ศรีธัญญา\"ลดตีตรา-เปิดใจ-ให้โอกาส 

 

 

          “คาดหวังให้เกิดความกล้าที่จะออกไปบอกต่อสังคมว่า I AM From ศรีธัญญา ที่จะช่วยลดการสร้างตราบาปให้แก่ผู้ป่วย แสดงถึงการเคารพและให้เกียรติ คืนคุณค่าและศักดิ์ศรีให้พวกเขา ตลอดจนส่งเสริมการเข้าถึงบริการรักษาอย่างครบวงจร และการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาผู้ป่วยจิตเวช” นพ.ศิริศักดิ์กล่าว 


          ทั้งนี้สรุปรายงานสถิติประจำปีงบประมาณ 2561 ของโรงพยาบาลศรีธัญญา ซึ่งมีจำนวนเตียงทั้งสิ้น 750 เตียง จำนวนผู้ป่วยนอกทั้งสิ้น 126,200 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2559 คิดเป็น 9.2% และเพิ่มขึ้นจากปี 2560 คิดเป็น 0.9% เฉลี่ย 517 รายต่อวัน โดย 5 โรคแรกในผู้ป่วยนอก คือ โรคจิตเภท 37% กลุ่มอาการซึมเศร้า 14.1% กลุ่มอาการซึมเศร้าและตื่นเต้น หรือไบโพลาร์ 8.1% กลุ่มอาการวิตกกังวล 5% และอาการทางจิตประสาทเนื่องจากสมองถูกทำลายหรือทำงานผิดปกติหรือจากโรคทางกาย 3.5%
  

          ส่วนผู้ป่วยรับไว้รักษามีจำนวน 5,685 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2559, 2560 คิดเป็น 10.5% และ 3% ตามลำดับ โรคที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลมากที่สุด คือโรคจิตเภท 44.9% และความผิดปกติทางพฤติกรรมและจิตประสาทเนื่องจากการใช้สารกระตุ้นระบบประสาทรวมทั้งกาเฟอีน 10.9% มีอัตราครองเตียงเท่ากับ 85.3% ช่วงเวลาว่างของเตียงเป็น 7.1 วันต่อปี