เด็กทำงาน 3.9%เหตุจากความจนวางนโยบายต้านใช้แรงงานเด็ก
โดย... -ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] -
จากสถิติผลสำรวจการทำงานของเด็กในประเทศไทย พ.ศ.2561 พบว่า ประเทศไทยมีประชากร 66.4 ล้านคน มีสัดส่วนประชากรที่เป็นเด็ก 10.47 ล้านคน ซึ่งในส่วนนี้มีเด็กทำงาน 4.09 แสนคน (3.9%) เป็นแรงงานเด็ก 1.77 แสนคน (1.7%) และมีเด็กทำงานอันตราย 1.33 แสนคน (1.3%) ซึ่งเด็กจะทำงานในส่วนของภาคเกษตรกรรมมากที่สุด 1.89 แสนคน (46.3%) รองลงมา ภาคการค้าและการบริการ 1.61 แสนคน (39.5%) และภาคการผลิต 5.8 หมื่นคน (14.2%) ส่วน 3 อันดับแรก ที่ทำให้เด็กต้องทำงานคือ ช่วยธุรกิจครัวเรือน 60.1% รายได้เสริมของครอบครัว 20.0% และไม่ได้สนใจเรียน 11.4%
ผลสำรวจดังกล่าว ถือเป็นครั้งที่ 2 ของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการ หลังจากมีการสำรวจไปเมื่อปี 2558 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจะพบว่า แรงงานเด็กในปี 2561 ลดลงจากปี 2558 โดยขณะนั้นมีแรงงานเด็กมากกว่า 3 แสนคน และเนื่องด้วยวันที่ 12 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมมือกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย จัดวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก ประจำปี 2562 เปิดเผยผลสำรวจ พร้อมจัดทำเป็นฐานข้อมูลนำเสนอรัฐบาลในการกำหนดนโยบาย แผนต่อต้าน ช่วยเหลือเด็กๆ ไม่ให้ถูกใช้แรงงานในรูปแบบที่เลวร้าย และยุติการกดขี่หรือข่มขู่บังคับใช้แรงงานในเด็กไทย
วิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ผลสำรวจดังกล่าวเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2561 จากครัวเรือนตัวอย่างที่มีเด็ก อายุ 5-17 ปี 26,643 ครัวเรือน สะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้จำนวนแรงงานเด็กในประเทศไทยลดลง เมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2558 และลดลงทั้งในด้านจำนวน และลักษณะงานอันตราย โดยปัจจัยที่ทำให้แรงงานเด็กลดลงนั้น เกิดจากการป้องกันและการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กอย่างจริงจัง มีนโยบายชัดเจน มีกฎหมายเข้มงวด มีการตรวจสอบกวดขัน และมีหลายกระทรวงเข้ามาช่วยสร้างความตระหนักรู้ เห็นความสำคัญในปัญหาการใช้แรงงานเด็ก
“จากการสำรวจ สรุปได้ว่าสาเหตุที่เด็กต้องมาทำงานก่อนวัยอันควร หรือมาทำงานตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 18 ปีนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาความยากจน ปัญหาทางเศรษฐกิจของครอบครัว เด็กต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยครอบครัวหารายได้ ซึ่งเมื่อพวกเขาออกมาจากโรงเรียนแล้ว พบว่า 55.1% ไม่เรียนหนังสือ มีเพียง 44.9% เท่านั้น ที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย อีกทั้งยังพบปัญหาสุขภาพ ร่างกายมีการเจริญเติบโตได้อย่างไม่เต็มที่ ยิ่งในสภาพการทำงานที่อันตราย ไม่ว่าจะเป็นยกของหนัก งานที่เกี่ยวกับสารเคมีอันตราย ทำงานในที่มีความร้อนจัด เย็นจัด และเสียงดัง หรือทำงานในช่วงเวลาดึกไปจนถึงเช้ามืด ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็ก” วิวัฒน์ กล่าว
สำหรับการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล หน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว เพราะต่อให้หน่วยงานรัฐมีการวางระบบ ตรวจสอบ บังคับใช้กฎหมาย เผยแพร่ข้อมูลสร้างความตระหนักรู้ หลังจากนี้ทางกระทรวงแรงงานจะสรุปผลการสำรวจ และข้อเสนอแนะจากความคิดเห็นทางด้านวิชาการ เสนอรัฐบาล เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล แนวทางในการกำหนดนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ในการต่อต้าน และการช่วยเหลือ คุ้มครองแรงงานเด็กอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในเรื่องดังกล่าว ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ปกครอง ตัวเด็กเอง และหน่วยงานจากภาคประชาสังคม ที่ต้องเข้ามามีบทบาท ไม่ผลักดันให้เด็กไปทำงาน เพียงเพราะความยากจนในครอบครัว รวมถึงถ้าพบเห็นการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย หรือไม่เหมาะสม ควรจะแจ้งให้มีการตรวจสอบ ส่วนผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ อย่ามองว่าต้องการช่วยเด็ก เพราะการช่วยและการทำตามกฎหมายต้องควบคู่กัน อีกทั้งเด็กเป็นวัยเจริญเติบโต พวกเขาควรจะได้เรียนหนังสือ ได้แข็งแรงตามพัฒนาการที่ดี อยากให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ผลการประเมินสถานการณ์แรงงานเด็กของประเทศสหรัฐอเมริกา จัดสถานะให้ประเทศไทยอยู่ในระดับมีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดเจน (Significant Advancement) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดต่อเนื่องในปี 2559 และปี 2560 ติดต่อกัน เป็น 1 ใน 17 ประเทศ จาก 132 ประเทศ และเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ได้ระดับนี้
สว่าง สุขศรี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เล่าว่า สิ่งที่จะทำให้ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการไม่ใช้แรงงานเด็ก ส่วนหนึ่งเกิดจากรูปแบบลักษณะของธุรกิจ และความเข้าใจกฎหมาย กฎกติกา ข้อบังคับต่างๆ เพราะบริษัทซีพีเอฟให้ความสำคัญในการคุ้มครองและไม่ใช้แรงงานเด็ก เนื่องจากเป็นบริษัทที่ส่งออกไปทั่วโลก มีหน้าที่ดำเนินการตามกฎ กติกา ข้อกำหนดต่างๆ ทั้งระดับสากล และประเทศไทย
ขณะนี้ลูกค้าทั้งแถบยุโรปและสแกนดิเนเวียค่อนข้างให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก ดังนั้น จำเป็นที่บริษัทต้องปฏิบัติตาม ขณะเดียวกันด้วยรูปแบบ สถานประกอบการซีพีเอฟ มีความหลากหลาย และไม่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานเด็ก รวมถึงมีนโยบาย ออกเป็นกฎกติกาชัดเจน เช่น นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ที่จะให้ความคุ้มครองแรงงาน และคุ้มครองเด็ก ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานไทย
“ขณะนี้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเด็กดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้ามองภาพรวมที่มีการละเมิดหรือกระทำผิด จะเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ในบางครั้งผู้ประกอบการขนาดเล็กอาจจะไม่เข้าใจถึงข้อบังคับในกฎหมายต่างๆ รัฐบาลอาจต้องส่งเสริม สร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการ ซึ่งถ้าพวกเขาเข้าใจ เชื่อว่าจะทำให้ภาพลักษณ์และมาตรฐานดีขึ้น"
ขณะเดียวกันในฝั่งของผู้ประกอบการ สามารถเลือกได้ว่าจะไม่ใช้แรงงานเด็ก ต่อให้ทุกวันนี้ ครอบครัวสมัยใหม่จะเปิดโอกาสให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มาเรียนรู้โลกของการทำงาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ มีวินัย ดีกว่าอยู่บ้านเล่นเกม หรือติดโซเชียลมีเดีย อนาคตภาครัฐก็ต้องมองหาจุดตรงกลางร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาความต้องการของเด็ก หรือครอบครัวที่อยากให้ลูกทำงานอย่างไรได้บ้าง อย่างไรก็ตาม วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กไม่ให้ทำงานรูปแบบเลวร้าย ส่วนสำคัญต้องเกิดจากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน อยากแก้ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ใช่ปล่อยเป็นหน้าที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง