ไลฟ์สไตล์

โค้ดดิ้ง สกิล ทักษะที่สําคัญแห่งอนาคต

โค้ดดิ้ง สกิล ทักษะที่สําคัญแห่งอนาคต

23 ก.ค. 2562

โดย...  -หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ [email protected] -

 

 

          หนึ่งในนโยบายของรัฐบาลคือ การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ในระบบดิจิทัล ปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้มุ่งสู่ระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีด้านวิศวกรรม คณิตศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ และภาษาต่างประเทศ ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์(Coding) ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา

 

 

          การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพในทุกตำบลส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ของสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ของสถาบันการศึกษาสู่สาธารณะ เชื่อมโยงระบบการศึกษากับภาคปฏิบัติจริงในภาคธุรกิจ สร้างนักวิจัยใหม่และนวัตกรเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ


          สร้างความรู้ความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สื่อออนไลน์ และโครงข่ายสังคมออนไลน์ของคนไทยเพื่อป้องกันและลดผลกระทบในเชิงสังคม ความปลอดภัย อาชญากรรมทางไซเบอร์ และสามารถใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง การสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีในสังคม รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต


          คนที่ผลักดันเรื่อง การเรียนภาษาคอมพิวเตอร์(Coding) ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา คือ  ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และได้บรรจุเป็นนโยบายรัฐบาล ในข้อที่ 7 ภายใต้หัวข้อที่ว่า เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21  เนื่องจากโลกยุคดิจิทัลและเทคโนโลยีเติบโตรวดเร็ว เข้ามามีบทบาทมากในชีวิตประจำวันของทุกคน การเรียนโค้ดดิ้ง (Coding) จึงจำเป็นสำหรับเด็กยุคใหม่ก้าวให้ทันโลก รวมทั้งผู้ประกอบการยุคใหม่ล้วนหันมาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้ ดังนั้น Coding คือความจำเป็นทางด้านการศึกษาไทย


          ก่อนหน้านี้ เคยหารือกับคณะ ดร.ทาคาฮิโร ไซโตะ จากมหาวิทยาลัยโอซากา เรื่อง Coding, Ict text book ผู้สร้างหลักสูตร Coding ของประเทศญี่ปุ่น ที่กำหนดเป็นนโยบายให้เรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศ ครอบคลุมในปี 2020 เพราะมองว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องปรับตัวให้ทันโลกยุคดิจิทัล โดยเฉพาะประเทศไทยกำลังจะมีการประมูลเทคโนโลยี 5G ภาษาคอมพิวเตอร์ จำเป็นอย่างยิ่งต้องเป็นภาษาที่ 3 ของการเรียนการสอน




          เพราะเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ สิ่งสำคัญคือต้องเร่งผลักดันให้ประเทศไทยมีการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกันทุกระดับ เพื่อสร้างพลเมืองคุณภาพให้มีมากขึ้นในระยะเวลาที่รวดเร็ว สามารถนำพาประเทศไทยให้ก้าวพ้นปัญหาอุปสรรคได้ เด็กไทยต้องพูดได้อย่างน้อย 2 ภาษา และเข้าถึงการเรียนเกี่ยวกับระบบไอทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรู้ความสามารถทัดเทียมกับเด็กในประเทศที่เจริญแล้ว และเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ


          Coding Skill คือทักษะที่สําคัญแห่งอนาคต ที่เป็นทักษะพื้นฐานที่หลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายให้เยาวชนของประเทศต้องมีความสามารถในการเรียนรู้และต่อยอด อันจะเป็นกุญแจสําคัญในการสร้างธุรกิจ ที่เป็น New S-Curve ใหม่ๆ ในอนาคต ว่ากันว่ายิ่งสามารถสร้างเยาวชนของชาติให้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ได้มากเท่าไร อนาคตของประเทศไทยจะมีโอกาสสดใสและเติบโตมากเท่านั้น


          ในอนาคตอันใกล้ Coding จะไม่ใช่แค่ทางเลือกของผู้สนใจเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ได้เข้าไปอยู่ในองค์ประกอบต่างๆ ในการใช้ชีวิต และสร้างธุรกิจในอนาคต เพราะเป็นพื้นฐานของความเข้าใจกระบวนการคิด และการสื่อสารอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาอื่นๆ ทั้งความเข้าใจทั้งด้านหุ่นยนต์, IoT, Machine Learning หรือปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต


          กระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือการกระตุ้นให้เกิดความกระหายใคร่รู้แบบสาระบันเทิง (Edutainment) และการเล่น (Gamification) ที่จะช่วยกระตุ้นความสนใจ (Curiosity) เปิดโอกาสให้เยาวชนนําความรู้มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ ความสนุก การแข่งขัน ซึ่งจะทําให้เกิดทั้งความภาคภูมิใจและอยากพัฒนาด้วยตนเองต่อไป เป็นสิ่งสําคัญในการสร้างหัวใจของการเรียนรู้ตลอดชีวิต


          ก่อนหน้านี้ กระทรวงดีอี โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้ร่วมมือกับ code.org สหรัฐอเมริกาและไมโครซอฟท์ นำโครงการ Coding Thailand หรือห้องเรียนออนไลน์เพื่อการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เตรียมพร้อมในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม การศึกษา และสังคม เข้าสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลต่อไป


          วิชาบังคับสำหรับนักเรียนป.1
          เว็บไซต์สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เผยแพร่ข้อเขียน ดร.ชลิตา ธัญญะคุปต์ ไว้ว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา นักเรียนประถม-มัธยม เริ่มเรียนวิทยาการคำนวณ ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Computing Science โดยจะค่อยๆ ขยายไปจนครอบคลุมทุกชั้นปีระหว่าง ป.1-ม. 6 ในปี 2563-2564 เป็นวิชาใหม่เพื่อเรียนให้ทันโลก


          เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงเสนอหลักสูตรวิทยาการคำนวณต่อกระทรวงศึกษาธิการ จนได้รับการประกาศใช้ในหลักสูตรอย่างเป็นทางการในปี 2561 ให้เด็กมีความรู้และทักษะเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริงหรือพัฒนานวัตกรรม และใช้ทรัพยากรด้านไอซีทีในการสร้างองค์ความรู้หรือสร้างมูลค่าได้อย่างสร้างสรรค์


          การจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาการคำนวณมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน คือ 1.วิทยาการคอมพิวเตอร์ 2.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ 3.การรู้เรื่องดิจิทัล


          การเขียนโปรแกรมที่ภาษาอังกฤษเรียก coding หรือ programming ไม่จำเป็นต้องเป็นการใช้ภาษาคอมพิวเตอร์อย่าง Python เสมอไป เด็กเล็กไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เสียด้วยซ้ำ อาจใช้บัตรคำ เช่น ให้เด็กใช้บัตรภาพลูกศรกับแผนที่เพื่อวางแผนเดินทางไปบ้านเพื่อน ตามตัวอย่างข้างต้น หรือใช้เกมเป็นสื่อการเรียนรู้แบบ Code.org หรือ CodingThailand.org เมื่อเด็กโตขึ้นถึงชั้นมัธยม จะได้แก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น หลักสูตรวิทยาการคำนวณออกแบบมาให้เหมาะกับวัยและพัฒนาการของเด็ก มีเป้าหมายในระยะยาวส่วนหนึ่งเพื่อเปลี่ยนบทบาทคนไทยจากผู้ใช้เทคโนโลยีให้เป็นผู้สร้างเทคโนโลยีได้ในอนาคต


          ข้อมูลจากการวิจัยของ สสวท. ที่สัมภาษณ์ครูและนักเรียนในโรงเรียนทั้งในเมืองและในพื้นที่ห่างไกล พบว่าครูและนักเรียนยืนยันว่าวิทยาการคำนวณไม่ได้ยากอย่างที่คิด เด็กๆ สนุกกับการแก้ปัญหา แม้บางคนจะผิดคาดที่ไม่ได้จับเครื่องคอมพิวเตอร์ในคาบแรกๆ แต่หลายคนก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าเป็นวิชาที่เน้นการคิดและการแก้ปัญหา ไม่ได้เน้นเทคโนโลยีล้ำๆ เพียงอย่างเดียวถ้าบรรลุเป้าหมายของวิทยาการคำนวณ นอกจากเด็กไทยจะรู้เท่าทันเทคโนโลยีแล้ว แม้เด็กในพื้นที่ห่างไกลก็จะมีโอกาสสร้างเทคโนโลยีระดับโลกได้เหมือน มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก, แจ็ค หม่า หรือ บิล เกตส์ ก็เป็นได้


          วิชาวิทยาการคำนวณ (Computing science) 
          - สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) 
          หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
          โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
          ** พฤษภาคม ปีการศึกษา 2561
          เริ่มชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
          - ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 
          - ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 
          - ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 
          * ปี 2562 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 
          ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
          ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 
          ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 
          * ในปีการศึกษา 2563 
          เริ่มชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 
          ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 
          ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 
          ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
          ขอบเขตของ3 องค์ความรู้
          - การคิดเชิงคำนวณ คือ เข้าใจและเรียนรู้วิธีคิดและแก้ปัญหาเชิงวิเคราะห์ มีลำดับวิธีคิดเชื่อมโยงปัญหาต่างๆ และแก้ไขปัญหาได้ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
          - ดิจิทัล เทคโนโลยี รู้เทคนิควิธีการต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลในยุค 4.0 และเป็นทางเลือกในการบูรณาการเข้ากับวิชาอื่นได้ด้วย
          - รู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล แยกแยะข้อมูลจริงหรือหลอกลวง รู้กฎหมายและลิขสิทธิ์ต่างๆ บนโลกไซเบอร์ เพื่อให้ใช้งานกันได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย