Lifestyle

ดันโค้ดดิ้ง-ไม่ไดโนเสาร์"คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช" รมช.ศธ.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected]

 

 

 

          “หลายคนอาจจะมองว่าดิฉันแก่ ไดโนเสาร์เต่าล้านปี แล้วจะมาอยู่กระทรวงศึกษาธิการได้อย่างไร จะทำให้กระทรวงถอยหลังหรือไม่ ก็จะไม่บอกว่าเป็นไปตามที่เขาพูดหรือไม่ แต่อยากบอกว่าความตั้งใจที่ทำอยู่ คงสะท้อนให้เห็นว่ามีความตั้งใจดีกว่าที่หลายๆ คนคิด และมีประสบการณ์ในชีวิตเรื่องการศึกษาตลอดชีวิต เพราะเราเป็นเด็กที่เรียนบ้านนอก ผ่านความยากลำบาก ความขาดแคลน เราทุ่มเทให้แก่การเรียนจนประสบความสำเร็จไปเรียนต่างประเทศ เป็นเหตุผลทำให้เด็กบ้านนอกคนหนึ่งมายืนอยู่ตรงนี้ได้เพราะการศึกษา ฉะนั้น ตัวตนมาจากการศึกษาอย่างแท้จริง ถ้าไม่เรียนหนังสือคงไม่มาถึงวันนี้ เราก็ตั้งใจไว้ว่า ถ้ามีโอกาสก็จะทำให้การศึกษาไปในทิศทางที่ถูกที่ต้อง”

 

 

          ความตั้งใจของ “คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ถึงแนวทางในการทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อต้องมารับผิดชอบดูแลสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

 

ดันโค้ดดิ้ง-ไม่ไดโนเสาร์"คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช" รมช.ศธ.

 


          นโยบายแรกที่จะเห็นได้อย่างชัดเจน คือ “การจะผลักดันนโยบายภาษาคอมพิวเตอร์ หรือ Coding เป็นภาษาที่ 3 ในหลักสูตรการศึกษาของไทย อย่างเป็นรูปธรรมตามที่พรรคประชาธิปัตย์เคยหาเสียงกับประชาชนไว้" คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ครั้งนี้ที่เข้ามา ศธ. ตั้งใจทำให้เด็กทุกคนมีโอกาส มีการเตรียมตัวที่จะไปเผชิญอนาคตที่มีการผันผวนมาก เปลี่ยนแปลงมาก จนไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต เด็กทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในครอบครัวฐานะอย่างไร ย่อมมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป อย่างลูกสาวเรียนหนังสือดี แต่เขาไม่มีความสุข เราจึงย้ำเสมอว่า เด็กต้องเรียนอย่างสนุก เต็มใจที่อยากจะเรียน เพราะต่อให้ยากแต่เขาอยากรู้ ถ้าเขาเรียนเขาก็จะมีความสุข และจากการพบผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฝรั่งเศส ก็พูดเหมือนกันว่าเราบังคับใครเรียนไม่ได้ ต้องให้เขาอยากเรียนเอง และดึงความสามารถของผู้เรียนออกมา

 

 

ดันโค้ดดิ้ง-ไม่ไดโนเสาร์"คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช" รมช.ศธ.

 


          “โค้ดดิ้ง (coding) ทำให้เกิดการเรียนรู้ไปสู่คนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ การใช้ชีวิต และการหาวิธีเรียนในอนาคตให้ได้ ส่วนการโค้ดดิ้งไม่มีเครื่อง (อันปลั๊ก) หลายคนถามว่าคุณหญิงบ้าหรือไม่ ไม่ใช่คอมพิวเตอร์จะเขียนโค้ดดิ้งได้อย่างไร ซึ่งอยากทำความเข้าใจว่าการเรียนโค้ดดิ้งสามารถสอนเด็กประถมศึกษาได้หลายรูปแบบ เป็นการสร้างความคิดให้เป็นระบบ ให้มีตรรกะ แก้ปัญหาชีวิต เป็นช่วงเป็นตอน เพื่อวางรากฐานไปสู่การใช้ชีวิตในอนาคตที่ต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเรา พอโตขึ้นก็จะไปแปลเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ และทั่วโลกก็มีการสอนเรื่องนี้ ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการให้ความสนใจจะให้มีการเรียนโค้ดดิ้งตั้งแต่ระดับปฐมวัย โดยขณะนี้กำลังปรึกษากันว่าจะสอนในแพลตฟอร์มไหนให้เด็กชั้นอนุบาลได้เรียนรู้ มาปรึกษากัน คาดว่าจะลงไปถึงเด็กชั้นอนุบาล เพราะอันปลั๊กสอนเล่นเกมได้ สอนได้หลายรูปแบบ”

 



          ในเดือนกันยายนนี้ ช่วงปิดภาคเรียน สสวท. และศธ. จะร่วมโค้ชชิ่ง (Coaching) ครู ที่มากกว่าคำว่าอบรมครู คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า ศธ.อบรมครูจนกรอบก็ยังไม่สุก แต่การโค้ชชิ่งไม่ได้เป็นการอบรม เป็นการให้คำแนะนำ เพิ่มเติมในสิ่งที่ครูมีพื้นฐานอยู่แล้ว คาดว่าจะโค้ชชิ่งครูประมาณ 1,000 คน เพื่อให้ครูเหล่านี้ได้เริ่มสอนโค้ดดิ้งแก่นักเรียนทันทีในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

 

ดันโค้ดดิ้ง-ไม่ไดโนเสาร์"คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช" รมช.ศธ.

 


          “การโค้ชชิ่งครูครั้งนี้ ครูมีพื้นฐานความรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอยู่แล้ว เพียงแต่มาเพิ่มเติมเพื่อไปสอนเด็ก ดังนั้น สำหรับผู้ที่เข้ามาอบรม หรือโรงเรียนไหนที่จะสอน แม้นโยบายจะเป็นทั้งประเทศก็ตาม แต่เราคงไม่บังคับคนเรียน คนสอน ทุกคนต้องเต็มใจ พอใจที่อยากสอนต้องสมัครเข้ามา ไม่อยากให้กังวลว่าจะสอนไม่ได้ ส่วนที่ทางสพฐ.กำหนดไว้ว่า 3,000 โรงเรียนนั้นเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้ ทุกโรงเรียนต้องสมัครเข้ามา ส่วนจะสมัครในรูปแบบออนไลน์ หรือออฟไลน์ และจะสมัครเมื่อใดนั้น ผู้เกี่ยวข้องในส่วนต่างๆ จะหารือและดำเนินการในเร็วๆ นี้”


          นอกจาก “โค้ดดิ้ง” นโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังมุ่งยกระดับคุณภาพของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี โดยขณะนี้มีประมาณ 50 แห่ง ที่รับผิดชอบดูแลอยู่ทั่วประเทศ ด้วยความตั้งใจอยากช่วยชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีช่วยยกระดับ คือ upskill (เพิ่มทักษะ) Reskill (นำมาทำใหม่) ที่จะส่งให้แก่วิทยาลัยเกษตรฯ ทุกแห่ง สอนเด็กและสอนชาวบ้าน ดึงชุมชน พ่อแม่ของนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน และจะเพิ่มเติมสังคมผู้ประกอบการที่อยู่รอบวิทยาลัยและเทคโนโลยีมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน

 

 

 

ดันโค้ดดิ้ง-ไม่ไดโนเสาร์"คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช" รมช.ศธ.

 


          คุณหญิงกัลยา กล่าวอีกว่า ทางศธ.จะสนับสนุนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีลงไป ซึ่งตอนนี้มีวิทยาลัยที่ทำอยู่บ้างแล้ว อย่างโครงการอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน มีเรียนในโรงเรียนและเป็นอีกส่วนเรียนรู้จากการสอนในพื้นที่ของชาวบ้าน และชาวบ้านได้เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน ทำให้มีการเรียนรู้ทั้งอาชีพและเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัว ซึ่งจะส่งเสริมให้มากขึ้น ส่วนเรื่องของการส่งเสริมการอ่านเขียน โดยจะเน้นการทำสื่อร่วมสมัยสู่เยาวชน เช่น การทำบทอาขยานมาเป็นเพลงแร็พ เพลงฉ่อย นั้น เรื่องนี้ได้มีการหารือกับนายสุรบถ หลีกภัย นายขันเงิน เนื้อนวล หรือขันเงิน ไทยเทเนียม โจอี้บอย รวมถึงจะหารือกับทางราชบัณฑิตยสถานด้วย เพราะการส่งเสริมการอ่านนอกจากให้นักเรียนสนุกในการเรียนรู้ เป็นกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ช่วยให้นักเรียนคลายเครียดแล้ว ยังต้องถูกต้องตามหลักของการเขียนด้วย ดังนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการหารือร่วมกัน โดยคาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนได้เร็วๆ นี้ นอกจากนั้น จะส่งเสริมเรื่องของจิตอาสา มีคณะทำงานจิตอาสา เน้นเรื่องน้ำชุมชน อาจจะมีธนาคารน้ำใต้ดิน ขุดบ่อชุมชน และจะเชื่อมวิทยาลัยเกษตรฯ เข้าสู่เรื่องนี้ด้วย


          “โค้ดดิ้ง การยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี การส่งเสริมการอ่านการเขียน และการสนับสนุนเรื่องจิตอาสานั้น ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ถึงตัวเด็กโดยตรงอย่างแท้จริง และทำตามนโยบายรัฐบาลที่ประกาศไว้ ดังนั้น ภายในระยะเวลาประมาณ 1 เดือนที่ได้มาอยู่ ศธ. ได้พยายามขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เห็นเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อเด็ก ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน”


          4 นโยบายหลักของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ
          1.ผลักดันหลักสูตรโค้ดดิ้ง (Coding)
          - โค้ดดิ้งไม่มีเครื่อง (อันปลั๊ก) เรียนรู้ในเด็กประถมศึกษา
          - สร้างความคิดให้เป็นระบบ มีตรรกะ แก้ปัญหาชีวิต เป็นช่วงเป็นตอน วางรากฐานสู่การใช้ชีวิตในอนาคต
          - จะมีการอบรมครูในเดือนก.ย. 2562 (ช่วงปิดภาคเรียน)
          - คาดอบรมครูประมาณ 1,000 คน
          - ครู ผู้บริหารโรงเรียนต้องเกิดการอยากสอน ไม่มีการบังคับให้เปิดสอน
          - เริ่มสอนโค้ดดิ้งในโรงเรียนที่มีความพร้อมเดือน พ.ย.2562
          2.ยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี
          - ช่วยชาวไร่ชาวนา เกษตรกร โดยนำวิยาศาสตร์ เทคโนโลยีช่วยยกระดับ
          - upskill (เพิ่มทักษะ) Reskill (นำมาทำใหม่) ที่จะส่งให้แก่วิทยาลัยเกษตรฯ ทุกแห่ง
          - สอนเด็ก สอนชาวบ้าน ดึงชุมชน พ่อแม่ของนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน
          - เพิ่มเติมสังคมผู้ประกอบการที่อยู่รอบวิทยาลัยและเทคโนโลยีมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน
          - นำต้นแบบวิทยาลัยเกษตรฯ ในโครงการอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน มาขยายผล
          3.ส่งเสริมการอ่านการเขียน
          - สร้างสื่อการเรียนรู้สมัยใหม่ ดึงบทอาขยายเป็นเพลงแร็พ เพลงฉ่อย
          - เป็นกิจกรรมเสริมให้เด็กไม่เครียด
          - เรียนรู้อย่างสนุก และต้องใช้คำได้ถูกต้อง
          - หารือร่วมกับศิลปินเพลงแร็พ และราชบัณฑิตยสถานเร็วๆ นี้
          4.ส่งเสริมเรื่องจิตอาสา
          - เน้นเรื่องน้ำชุมชน
          - ธนาคารน้ำใต้ดิน ขุดบ่อชุมชน
          - เชื่อมวิทยาลัยเกษตรฯ เข้าสู่ในเรื่องนี้
          - ตั้งคณะทำงานจิตอาสา เตรียมหารือร่วมกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
          ที่มา: คมชัดลึก

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ