ไลฟ์สไตล์

แพทย์มช.สร้างเครือข่ายมะเร็งคัดกรอง ส่งต่อ ผู้ป่วย5จังหวัด

แพทย์มช.สร้างเครือข่ายมะเร็งคัดกรอง ส่งต่อ ผู้ป่วย5จังหวัด

10 ก.ย. 2562

โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected] -

 

 

 

          อุบัติการณ์มะเร็งเต้านมถือเป็นมะเร็งชนิดที่พบมากอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทยและทั่วโลก ประเทศไทยมีผู้ป่วยใหม่ 34 รายต่อวัน เสียชีวิตวันละ 10 ราย เนื่ิองจากการหลายคนยังเข้าไม่ถึงสิทธิตรวจคัดกรองอย่างแมมโมแกรม ทำให้ส่วนใหญ่ตรวจพบในระยะลุกลามเฉพาะที่ หรือระยะ 2 ขึ้นไป คลำเจอก้อน 4-5 เซนติเมตร  ซึ่งควรให้ความสำคัญผู้ป่วยที่อยู่ในระยะลุกลามและแพร่กระจาย

 

 

 

 

แพทย์มช.สร้างเครือข่ายมะเร็งคัดกรอง ส่งต่อ ผู้ป่วย5จังหวัด

 

 

          ศ.พญ. อิ่มใจ ชิตาพนารักษ์ หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในงานประชุมมะเร็งเต้านมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 4 ณ โรงแรมเอเชีย ว่าโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ถือเป็นมหาวิทยาลัยแพทย์แห่งแรกในภูมิภาค คนไข้จะถูกส่งมาจาก โรงพยาบาลขนาดเล็กสู่โรงพยาบาลประจำจังหวัด และมาที่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กว่าคนไข้จะถูกส่งตัวมามะเร็งกระจายเข้ากระดูก กลายเป็นอัมพาตตลอดชีวิต จึงเกิดแนวคิดว่า จะทำอย่างไรให้หมอที่อยู่โรงพยาบาลรอบนอกส่งผู้ป่วยฉุกเฉินมาเร็วที่สุด


          ส่งต่อผู้ป่วย5จ.ทันการรักษา
          จึงหาทางจะทำอย่างไรให้หมอที่อยู่โรงพยาบาลรอบนอกส่งผู้ป่วยฉุกเฉินมาเร็วที่สุด จนเกิดเป็นโครงการ “เครือข่ายมะเร็งเต้านมภาคเหนือตอนบน ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่” ปี 2552 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เริ่มต้นจัดตั้งเครือข่าย 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา และลำพูน เพื่อจัดอบรมวิชาการพัฒนาศักยภาพให้แพทย์ พยาบาลและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้มีแนวทางการรักษาและช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีมาตรฐานเดียวกันในโรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงพยาบาลประจำจังหวัดในการเตรียมพร้อมและคัดกรองอาการผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมได้เร็วขึ้น และส่งต่อผู้ป่วยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
   

 

 

 

แพทย์มช.สร้างเครือข่ายมะเร็งคัดกรอง ส่งต่อ ผู้ป่วย5จังหวัด

ศ.พญ. อิ่มใจ ชิตาพนารักษ์

 


            เริ่มจากการบริหารจัดการภายในโรงพยาบาลก่อน คัดเลือก 3 อาการที่ควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเร่งด่วนภายใน 24-48 ชั่วโมง ได้แก่ มะเร็งขึ้นสมอง เข้าไขสันหลัง และเข้าเส้นเลือดดำใหญ่ จัดอบรมหมอทั้ง 5 จังหวัดเพื่อให้รู้วิธีการรักษา ให้ยาสูตรง่ายลดการเดินทางมาที่เชียงใหม่รวมถึงจัดอบรมพยาบาลเรื่องการจัดระบบข้อมูลพร้อมแก้ปัญหาระบบประวัติการรักษาให้เป็นออนไลน์เพื่อให้ง่ายต่อการส่งตัว
  

          นอกจากนี้ยังพัฒนาโครงการส่งตัวผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมาฉายรังสีรักษา (Express Queue Online Emergency in Metastatic Breast Cancer) โดยคนไข้สามารถขอคิวรังสีรักษาทางระบบออนไลน์เพื่อความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทำให้การรักษามีความต่อเนื่องหากเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อประคับประครองคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนซึ่งจากโครงการดังกล่าว ทำให้เครือข่ายได้รับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติประจำปี 2558 สาขาพัฒนาระบบบริการดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)
    

          “คนไข้ไม่ต้องเดินทาง เราสร้างโรงพยาบาลลูกข่ายเพื่อให้ยาสูตรง่ายและสูตรกลาง เพราะคนไข้ที่ให้คีโมจะมีผลข้างเคียงมาก นอกจากนี้เรื่องการจัดคิวฉายแสงซึ่งต้องผ่านหลายขั้นตอนทำให้คนไข้ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลกว่า 5 ครั้งเหลือเพียงครั้งเดียว” ศ.พญ.อิ่มใจ กล่าว


          สานต่อโครงการอบรม อสม.
          นอกจากผู้ป่วยระยะลุกลามแล้วยังต้องให้ความสำคัญกับ “มะเร็งระยะแพร่กระจาย” หมายถึงหายไปแล้ว ตัดเต้านมไปแล้ว มีชีวิตอยู่ต่อไปก็อาจจะกลับมาเป็นได้อีกภายใน 2–10 ปี  มาต่อยอดโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในภาวะลุกลามและแพร่กระจายในปี 2558 โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล องค์การอนามัยโลก หรือ Union of International Cancer Control – UICC, World Health Organization – WHO) 

 

 

แพทย์มช.สร้างเครือข่ายมะเร็งคัดกรอง ส่งต่อ ผู้ป่วย5จังหวัด

 

 


          อบรมและพัฒนาความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการช่วยติดตามอาการของผู้ป่วยหลังจากรักษาและกลับไปอยู่บ้าน ใช้สื่อการสอนเพื่อให้เข้าใจง่าย พัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ อสม.ทบทวนความรู้ การทดสอบความรู้หลังอบรม ลงพื้นที่ติดตามผลหลังจากอบรมไปแล้ว 6 เดือน ปัจจุบันอบรม อสม.ไปแล้วทั้งสิ้น 800 คน


          หายแล้วควรระวัง แต่อย่างระแวง
          ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในภาวะลุกลามและแพร่กระจายในความเป็นจริงถึงแม้จะรักษาโรคมะเร็งเต้านมหายแล้ว ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่อาการจะกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ ดังนั้นควรเฝ้าระวังและหมั่นตรวจติดตามต่อเนื่องเป็นระยะๆ  ผู้ป่วยต้องระวัง ควรรับประทานอาหารที่ดีและหลากหลายในสัดส่วนที่พอดีไม่ควรรับประทานอะไรซ้ำๆ  มะเร็งเต้านมชอบไขมัน ก็กินมันให้น้อยลงเท่านั้นเอง ควรจะใช้ชีวิตให้อยู่สบาย มีความสุข และควรเชื่อข้อมูลที่ได้รับการพิสูจน์หรือรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญแล้ว
  

          ศ.พญ.อิ่มใจ  เล่าว่า หลายคนกลัวการพบแพทย์ เพราะกลัวการกลับมาของโรคมะเร็ง เนื่องจากการรักษาค่อนข้างมีผลข้างเคียงและทรมานจากการรักษาในรูปแบบต่างๆ จึงรู้สึกท้อแท้ กังวล และตัดสินใจไม่พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้เมื่อเกิดโรคอีกครั้ง เกิดการลุกลาม ซึ่งในความเป็นจริงการเข้ารับการรักษาด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างถูกต้องจะช่วยลดปัญหา ลดความทรมานจากโรค และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”


          อย่างไรก็ตามหากผ่าตัดเต้านมแบบสงวนเต้า ควรตรวจแมมโมแกรมข้างที่เหลือปีละครั้ง หรือหากตัดทิ้งทั้งหมดอาจจะแพร่กระจายมาที่ผนังทรวงอกได้ อย่างไรก็ตามปัจจัยก็ขึ้นอยู่กับระยะแรกที่เป็นว่าเป็นหนักหรือไม่ คนเป็นมะเร็งควรใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและอยู่อย่างไม่ระแวง

 

 

 

แพทย์มช.สร้างเครือข่ายมะเร็งคัดกรอง ส่งต่อ ผู้ป่วย5จังหวัด

 


          ข้อปฏิบัติผู้ป่วยมะเร็งหลังจากรักษาหาย
          - ติดตามเฝ้าระวังโรค 2-10 ปี
          - ระวัง แต่อย่างระแวง
          - รับประทานอาหารที่หลากหลายครบ 5 หมู่
          - หากผ่าตัดสงวนเต้า ควรตรวจแมมโมแกรมข้างที่เหลือปีละครั้ง
          - หากตัดทิ้งหมด ควรตรวจเช่นเดียวกัน
          - เชื่อข้อมูลที่พิสูจน์ได้เท่านั้น