ไลฟ์สไตล์

หมู่บ้านโซลาร์ลดไฟฟ้า ตอบโจทย์ Energy for All 

หมู่บ้านโซลาร์ลดไฟฟ้า ตอบโจทย์ Energy for All 

12 ก.ย. 2562

โดย...  -ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] 

 

 

 

          กระทรวงพลังงานประกาศนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้า โดยทำให้พลังงานเป็นเรื่องของทุกคน หรือ Energy for All สนับสนุนภาคประชาชน ชุมชน มีส่วนร่วมทั้งในมิติ “ลดค่าใช้จ่าย” และ “สร้างรายได้” จากพลังงาน โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” เมื่อกลางปี 2562 โดย “รัฐ” รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จากภาคประชาชนปริมาณ 10,000 เมกะวัตต์ นำร่องรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์จากหลังคาบ้าน หรือโซลาร์รูฟท็อป ทยอยรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์ แบ่งรับซื้อผ่านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 70 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 30 เมกะวัตต์ โดยผู้มีสิทธิ์ยื่นชื่อเข้าโครงการต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 หรือบ้านที่อยู่อาศัยเท่านั้น
   

 

 

          ความน่าสนใจของโซลาร์ภาคประชาชน คือการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเหลือใช้จากประชาชนในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย กำหนดเวลารับซื้อ 10 ปี ทำให้การติดตั้ง “โซลาร์รูฟท็อป” ในบ้านอยู่อาศัยมีความคุ้มทุนมากขึ้น “บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA” นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัยติดตั้งให้บ้านทุกหลังในโครงการยกเว้นบ้านที่มีราคาน้อยกว่า 1 ล้านบาท


          เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสนาดี เวลลอปเม้นท์ เล่าว่า แนวคิดหลักในการทำบ้านเสนาโซลาร์ไม่ใช่เพียงความคุ้มค่าของลูกบ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมการลดใช้พลังงานไฟฟ้า เพราะวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันล้วนต้องพึ่งพาการใช้ไฟฟ้าทำให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก และบางครั้งบางพื้นที่ก็ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างสิ้นเปลืองไม่คุ้มค่า 
  

          อีกทั้งการจัดทำบ้านเสนาโซลาร์ยังถือเป็นการศึกษาและเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของลูกบ้าน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ครอบครัวใหญ่ที่มีทั้งคนทำงานนอกบ้านอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ หรือเด็กที่อยู่บ้านทั้งวัน กลุ่มนี้มีผู้ที่อาศัยอยู่บ้านในช่วงกลางวัน พบว่าโซลาร์รูฟท็อปผลิตไฟได้เฉพาะกลางวัน แล้วที่เหลือก็สามารถขายเข้ารัฐได้ กลุ่มนี้คุ้มใช้เอง เหลือขายก็คุ้ม


  

          กลุ่มที่ 2 กลุ่มคนทำงานนอกบ้าน หรือกลุ่มที่อยู่เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งจะทำให้มีไฟเหลือมากสุดที่จะขายคืนให้รัฐ และกลุ่มที่ 3 กลุ่มคนทำงานที่บ้านหรือฟรีแลนซ์ หรือกลุ่มคนที่มีกิจการร้านค้าซึ่งจะมีความคุ้มค่าในการใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์มากสุด แต่เหลือจากใช้จะขายให้รัฐเช่นเดียวกัน
  

          การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนอกจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าไฟในแต่ละเดือนแล้วยังสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ด้วย โดยปกติการผลิตไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงจะปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 0.6 กก. แต่ถ้าหากเราใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าแทนจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้แก่บ้านทุกหลัง 2 กิโลวัตต์ ก็สามารถช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างต่ำ 2 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับปลูกต้นไม้ใหญ่ 16 ต้นในระยะเวลา 10 ปี และยังสามารถปรับเพิ่มจำนวนแผงโซลาร์ได้ถึง 8กิโลวัตต์ ตามพฤติกรรมการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
   

          ปฐม ดุรงค์รุ่งเรือง เจ้าของธุรกิจสนทนา คาเฟ่  เล่าว่า การลดใช้พลังงานไฟฟ้า จริงๆ ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทุกคนต้องช่วยกัน ซึ่งการที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการลดพลังไฟฟ้า ลดค่าไฟ และที่สำคัญทำให้ได้นำไฟฟ้าไปขายต่อให้ภาครัฐอีกด้วย เพราะต้องยอมรับว่า วิถีชีวิตของเราทุกคนต้องใช้ไฟฟ้า หากใช้อย่างสิ้นเปลืองไม่มีการลด หากไม่ช่วยกันลดใช้พลังงานในสิ่งที่เราทำได้ ขณะเดียวกันก็ได้ช่วยภาครัฐในการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วย วันหนึ่งพลังงานไฟฟ้าก็คงหมดโลกไป และชีวิตของพวกเราก็จะลำบากมากขึ้น