ไลฟ์สไตล์

แบน 3สารเคมีเกษตรแค่จุดเริ่ม จับตาสารทดแทน-ช่วยเกษตรกร

แบน 3สารเคมีเกษตรแค่จุดเริ่ม จับตาสารทดแทน-ช่วยเกษตรกร

23 ต.ค. 2562

แบน 3สารเคมีเกษตรแค่จุดเริ่ม จับตาสารทดแทน-ช่วยเกษตรกร โดย...  ทีมคุณภาพชีวิต [email protected] -

 

 

 

          “พาราควอต-แบน 21 จำกัดการใช้ 5 คลอร์ไพริฟอส-แบน 22 จำกัดการใช้ 4 ไกลโฟเซต-แบน 19 จำกัดการใช้ 7” เป็นข้อความที่ รมว.สาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล โพสต์เฟซบุ๊ก หลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน 3 สารเคมีเกษตร พร้อมกับระบุว่า “ขอกราบขอบพระคุณและน้อมคารวะต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเฉพาะผู้ที่ลงมติแบนการใช้สารพิษด้วยจิตสำนึกที่รักและห่วงใยในคุณภาพชีวิตและสุขภาพของพี่น้องประชาชน  ประวัติศาสตร์จะจารึกวีรกรรมที่ท่านทำเพื่อแผ่นดินเกิดในวันนี้เยี่ยงวีรบุรุษของชาติ ขอแสดงความยินดีกับคนไทยทุกคนที่ประเทศของเรายังมีข้าราชการและนักวิชาการที่เปี่ยมล้นไปด้วยคุณธรรมและจริยธรรมหลงเหลืออยู่ในบ้านของเรา”

 


          ก่อนหน้านั้น อนุทิน ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อพิจารณายกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ว่าตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุขที่ไปร่วมประชุม 3 คน คือ อธิบดีกรมการแพทย์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีมติชัดเจนตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม แล้วคือ การแบนสารพิษ 3 สาร


          อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการวัตถุอันตราย 26  คน ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) 2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 27 ตุลาคม 2562 ประกอบด้วย 


          1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน 2.ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 3.อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม 4.ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5.อธิบดีกรมประมง 6.อธิบดีกรมปศุสัตว์ 7.อธิบดีกรมวิชาการเกษตร 8.อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ 9.ปลัดกระทรวงสาธารณสุข 20.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัตถุอันตราย 21.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเกษตรกรรมยั่งยืน 22.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านคุ้มครองสุขภาพอนามัย 23.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเคมี 24.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ 25.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาขาวิศวกรรมศาสตร์ และ 26.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาขาเกษตรศาสตร์

 

          วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า แม้คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีมติแบน 3 สารพิษในครั้งนี้จะเป็นคณะกรรมการฯ ตามกฎหมายฉบับเดิม แต่เมื่อมีคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ตามกฎหมายฉบับใหม่นั้น ก็จะมีหน้าที่ดูแลเรื่องวิธีการจัดการให้คำแนะนำ หาสารทางเลือกทดแทน เป็นต้น แต่หน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ก็ไม่มีผลกับมติการแบนหรือการโหวตในครั้งนี้แล้ว ไม่สามารถไปกลับมติการแบนของคณะกรรมการชุดเดิมได้

 

 

 

 

 


          การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้บริโภค แต่ก็ต้องตระหนักว่าเกษตรกรคือผู้ที่จะต้องรับภาระในการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะเกษตรกรที่แสดงความจำนงว่าจะใช้สาร 3 ชนิดนี้ จึงอยากเรียกร้องว่าหากมีต้นทุนจากการปรับเปลี่ยนนี้ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะต้องช่วยกันสนับสนุนแบ่งเบาภาระ เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องรับภาระจากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ 


          สำหรับเรื่องสารทดแทนเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะต้องดำเนินการ ควรหาวิธีการทดแทน คือ 1.ใช้เครื่องมือกลและเครื่องจักรกลทางการเกษตร 2.เรื่องการปลูกพืชคลุมดิน และ 3.การจัดระบบการปลูกพืชแบบผสมผสาน


          ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง หรือไทยแพน (Thai-PAN) กล่าวว่า ระยะยาวให้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีมาตรการสนับสนุนเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆ และให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ตามระดับความเป็นอันตรายเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจากผลกระทบภายนอก (pesticide externalities) ที่มีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี โดยนำภาษีที่เก็บได้ไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการจัดการวัชพืชและศัตรูพืชที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

 

 

 

แบน 3สารเคมีเกษตรแค่จุดเริ่ม จับตาสารทดแทน-ช่วยเกษตรกร

 


          ทั้งนี้ข้อมูลจาก Thai-PAN Thailand Pesticide Alert Network ระบุว่า พาราควอต ชื่อการค้า กรัมม็อกโซน และอื่นๆ ผู้ผลิตรายใหญ่ ซินเจนทา บริษัทที่ไม่สนับสนุนการใช้ บริษัทโดล ยุติการใช้พาราควอตในพื้นที่เกษตรของบริษัทในเครือทั่วโลกตั้งแต่ปี 2007 บริษัทซิกิต้า ซึ่งป็นคู่แข่งของโดล ยุติการใช้ในพื้นที่ปลูกกล้วยตั้งแต่ปี 2009 ไซม์คาร์บีแพลนเตชั่น โกลเด้นอะกริรีซอร์สเสส และบริษัทปาล ยักษ์ใหญ่ของโลกเกือบทั้งหมด บริษัทเจียไต๋ ประกาศยุติการจำหน่ายตั้งแต่ปี 2561 บริษัทไทยฮา สนับสนุนการแบนพาราควอต บริษัทมิตรผล ไม่สนับสนุนการใช้ในพื้นที่อ้อย


          ขณะที่ คลอร์ไพริฟอส ชื่อการค้า ลอร์สแบน และอื่นๆ ผู้ผลิตราย์ใหญ่ ดาวอะโกรซายส์ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่ตกค้างในผักผลไม้มากที่สุด ส่วนไกลโฟเซต ชื่อการค้า: ราวด์อัพ และอื่นๆ ผู้ผลิตรายใหญ่ : มอนซานโต้-ไบเออร์ ศาลตัดสินให้บริษัทชดใช้ กรณีไกลโฟเซตก่อมะเร็ง ศาลในรัฐแคลิฟอร์เนียตัดสินให้บริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ใช้ไกลโฟเซต และต่อมาพบว่าป่วยด้วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง NHL (non-Hodgkin's lymphoma) ดังนี้ 1. DewayneLee Johnson 78 ล้านดอลลาร์ 2. Edwin Hardeman 80 ล้านดอลลาร์ 3. Alva Pilliod และ Alberta Pilliod เป็นเงิน 86.7 ล้านดอลลาร์ โดยขณะนี้มีคดีที่ฟ้องร้องบริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ ร่วมกันมากกว่า 10,000 คดี ที่ยังรอการพิจารณา


          มีรายงานข่าวว่าที่ผ่านมาในการขึ้นทะเบียนให้เกษตรกรมาเข้ารับอบรมการใช้สารเคมี ตามมาตรการจำกัดการใช้ มีเพียง 4-5 แสนคนเท่านั้น หากเทียบเคียงกับเกษตรกร ผู้ปลูกสวนยาง 1.4 ล้านราย มีพื้นที่ปลูกยาง 17 ล้านไร่ ผู้ปลูกอ้อย 8 แสนราย พื้นที่ปลูก 8 ล้านไร่ และเกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง 1.8 ล้านไร่ ปลูกข้าวโพด 4 ล้านไร่ ปาล์มน้ำมัน 7 ล้านไร่


          เกษตรกรแจงแบนสารสูญ8.2แสนล้าน
          สุกรรณ์ สังข์วรรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า หากนับเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลักมีเพียง 6 รายการ ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืช พาราควอต และไกลโฟเซต ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรสูงถึงปีละ 4.5 แสนล้านบาท นำรายได้เข้าสู่ประเทศรวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หากแบนสารดังกล่าว สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาล ได้ประมาณการผลกระทบต่อภาคเกษตรอุตสาหกรรม ไม่เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตรวมจะลดลงร้อยละ 82 รายได้เกษตรกรจะหายไปเกินครึ่ง หรือร้อยละ 56 คิดเป็นมูลค่า 2.5 แสนล้านบาท


          รวมทั้ง ปริมาณการส่งออกสินค้ารวมจะหายไปร้อยละ 80 คิดเป็นมูลค่า 5.7 แสนล้านบาท รวมแล้วภาครัฐจะต้องสูญเสียรายได้กว่า 8.2 แสนล้านบาท การบริหารเกษตรกรรมของประเทศด้วยหลักมโนศาสตร์ กระแสสังคมและความรู้สึก ไม่ควรเกิดขึ้นในทุกรัฐบาล การพัฒนาประเทศต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์บนพื้นฐานความเป็นจริงและศักยภาพของประเทศ


          ชี้กลูโฟซิเนตแพงประสิทธิภาพต่ำ
          เกษตรกรเพาะปลูกมานานกว่า 50 ปี ระบบเกษตรปลอดภัยมาตรฐาน GAP ใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยเป็นทางออกที่ดีที่สุดสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งส่งเสริมเกษตรเคมีและเกษตรอินทรีย์ ต่างต้องดำเนินไปควบคู่กัน โดยปัจจุบันเกษตรเคมีมีพื้นที่กว่า 137 ล้านไร่ แต่เกษตรอินทรีย์มีพื้นที่ 3 แสนไร่เท่านั้น และสารกลูโฟซิเนต ที่แนะนำให้ทดแทนนั้น อันตรายกว่าสารเดิม เพิ่มเติมคือแพงกว่า 5 เท่า ประสิทธิภาพต่ำกว่า


          สำหรับทางออกที่เหมาะสมที่สุดคือ มาตรการจำกัดการใช้ฯ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศออกมาใช้ จะต้องไม่แบนสารดังกล่าว เพราะแรงงานไม่สามารถหาได้ หากหาได้คิดเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลัก 60 ล้านไร่ รัฐต้องจ่ายค่าแรงชดเชยให้เกษตรกร 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี หากใช้เครื่องจักร ปัจจุบันเกษตรกรเป็นหนี้สินอยู่ครอบครัวละ 135,220 บาทต่อปี รัฐต้องยกเลิกหนี้สินให้เกษตรกรทั้งหมดที่อยู่ในระบบของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสร้างหนี้ใหม่กู้เงินมาซื้อเครื่องจักร โดยเกษตรเรียกร้องให้รัฐออกค่าใช้จ่ายส่วนต่างของเครื่องจักรทั้งหมดให้เกษตรกร


          ทั้งนี้สมาพันธ์ฯ จะรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากเกษตรกรแต่ละพื้นที่หลังถูกระงับการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิดให้ได้มากที่สุดเพื่อนำเรื่องยื่นต่อศาลปกครองกลางในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ให้คุ้มครองชั่วคราวและจะรวมตัวกันเดินทางยื่นเรื่องถึงนายกรัฐมนตรีต่อไปด้วย