ดึงคนรุ่นใหม่ร่วม ลดโลกร้อน คิกออฟงดแจกถุงพลาสติก
ดึงคนรุ่นใหม่ร่วม ลดโลกร้อน คิกออฟงดแจกถุงพลาสติก โดย... คุณภาพชีวิต [email protected] -
กรีนพีซประเทศไทย เผยผลการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ร่วมกันของ เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนทั่วโลกในนาม Break Free From Plastics ที่รวม 6 ทวีป ใน 51 ประเทศ กว่า 484 พื้นที่ อาสาสมัครกว่า 72,451 คน สามารถเก็บขยะได้กว่า 476,423 ชิ้นทั่วโลก เพื่อนำขยะพลาสติกมาตรวจสอบแบรนด์สินค้าที่พึ่งพาพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง
จากการเก็บข้อมูลพบว่า ขยะจาก 3 แบรนด์ข้ามชาติที่พบมากที่สุด ได้แก่ โคคา-โคล่า, เนสท์เล่ และเป๊ปซี่โค ตามลำดับในปีที่ผ่านมา
กรีนพีซทั่วโลก ได้ส่งขยะที่เก็บได้ ไปยังสำนักงานใหญ่ของ “เนสท์เล่” และ “ยูนิลีเวอร์” ส่งผลให้ยูนิลีเวอร์ ตั้งเป้าในการทำให้บรรจุภัณฑ์สามารถรีไซเคิลได้ นำกลับมาใช้ใหม่และย่อยสลายได้ภายในปี ค.ศ. 2025 และในปีนี้ยูนิลีเวอร์ไทยก็ประกาศปฏิวัติพลาสติกเช่นเดียวกัน
สำหรับผลการตรวจสอบแบรนด์ (Brand Audit) จากขยะพลาสติกในประเทศไทยปี 2562 มีการเก็บขยะในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ บริเวณดอยสุเทพ และสงขลา บริเวณแหลมสนอ่อน มีอาสาสมัครจำนวน 115 คน เป็นเวลา 1 เดือน พบว่าสามารถเก็บรวบรวมขยะได้ 6,091 ชิ้น โดยเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกบรรจุอาหาร 5,485 ชิ้น อุปกรณ์สำหรับการสูบบุหรี่ 231 ชิ้น
พบขยะพลาสติกจากแบรนด์ข้ามชาติ 5 อันดับแรก ได้แก่ โคคา-โคล่า, เนสท์เล่, อายิโนะโมะโต๊ะ, มอนเดลีซ และยูนิลีเวอร์ ตามลำดับ
ขณะที่ 5 อันดับแบรนด์ไทย ที่พบเป็นขยะพลาสติกมากที่สุด ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์, โอสถสภา, กลุ่มธุรกิจ TCP, เสริมสุข และสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ตามลำดับ ซึ่งกรีนพีซได้ส่งผลดังกล่าวให้แก่บริษัทในประเทศไทยแล้ว
หูหิ้วกาแฟรักษ์โลก“เอื้องคำคอฟฟี่”
ล่าสุดสถาบันการศึกษาหลายแห่งได้ดึงคนรุ่นใหม่ร่วม “ลดโลกร้อน” ด้วยการงดแจกถุงพลาสติก อย่างเช่นที่ “เอื้องคำคอฟฟี่”
หนึ่งในร้านกาแฟของมหาวิทยาลัยพะเยา ที่รณรงค์และใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน ส่งเสริมรายได้ให้แก่ชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัย โดยการนำไม้ไผ่มาทำเป็น “หูหิ้วกาแฟรักษ์โลก” ฝีมือกลุ่มผู้สูงอายุบ้านแม่กาโทกหวาก ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา หรือเรียกชื่อกลุ่มว่า “กาเจริญ” ที่ใช้เวลาว่างของผู้สูงอายุมารวมกลุ่มกันพัฒนาทักษะทางด้านหัตถกรรมเพื่อเสริมสร้างรายได้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้โครงการวิจัย “ระเบียงวัฒนธรรมกว๊านพะเยา การวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าบนฐานทุนทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนรอบกว๊านพะเยา” นั่นเอง
อาจารย์จารุวรรณ โปษยานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ในชุมชน มาสร้างมูลค่าทั้งทางด้านทักษะที่มีอยู่ในชุมชน และการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ผู้คนในชุมชน ซึ่งมหาวิทยาลัยพะเยาของเรามีร้านกาแฟที่ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว จึงเลือกใช้ “หูหิ้วกาแฟรักษ์โลก” แทนพลาสติกในเอื้องคำคอฟฟี่ เพื่อพัฒนาและรณรงค์ลดการใช้พลาสติกต่อไป
อาจารย์ปณิธาน ประมูล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมศาสตร์ นักวิจัยร่วมโครงการ กล่าวว่า “หูหิ้วกาแฟรักษ์โลก ได้รับการสนับสนุนและนำไปใช้ใน ร้านกาแฟเอื้องคำ ร้านกาแฟของมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากชุมชน และส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้ เป็นการให้ผู้สูงอายุมารวมตัวกันทำกิจกรรมและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย” เอื้องคำคอฟฟี่ ตั้งอยู่หลังอาคารสำนักงานอธิการบดี รอบๆบริเวณอ่างหลวง เปิดบริการทุกวัน
โฮมเบเกอรี่ สวนดุสิต งดแจกถุง
ดร.จันทร์จนา ศิริพันธ์วัฒนา ผู้จัดการสวนดุสิตโฮมเบเกอรี่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) กล่าวว่า ปัจจุบัน การรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกได้ขยายเป็นวงกว้าง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ห้างร้าน ห้างสรรพสินค้าชั้นนำในประเทศไทย ต่างตระหนักและให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ยิ่งเฉพาะต่างประเทศ หรือในประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมาอย่างยาวนานและเป็นรูปธรรม เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อโลกของเราเพิ่มเป็นทวีคูณ อาทิ สัตว์น้ำกลืนถุงพลาสติก มลพิษในอากาศสูงขึ้น ขยะล้นโลก ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะปัญหาเกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น จนกลายเป็นวิกฤติที่เราทุกคนต้องมาช่วยกันแก้ไขอย่างจริงจัง
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด โดยผลิตสื่อและจัดโครงการรณรงค์ “การลดขยะลดใช้ถุงพลาสติก” ดำเนินการขับเคลื่อนภายใต้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน - คปอ. และมีศูนย์วิทยาศาสตร์ เป็นต้นแบบการจัดการสีเขียว : Green Office และ Green Meeting อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ร้านโฮมเบเกอรี่ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติก จึงประกาศงดแจกถุงพลาสติกสำหรับลูกค้าที่มาซื้อขนมโฮมเบเกอรี่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป และใช้แก้วไบโอฝาโดมยกดื่มสามารถย่อยสลายได้สำหรับเครื่องดื่มทุกชนิด เพื่อลดการใช้หลอดพลาสติกเช่นเดียวกัน โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าได้ทราบในเบื้องต้นแล้ว หากลูกค้าซื้อสินค้าครบ 500 บาท เราแจกถุงผ้ารียูสแบรนด์โฮมเบเกอรี่ แต่หากบุคคลใดอยากได้หรือลืมนำถุงมาใส่ขนมอบ เราจัดจำหน่ายในราคาย่อมเยา โฮมเบเกอรี่ขอเป็นส่วนหนึ่งในการรักษ์โลก และขอเชิญชวนให้ทุกคนหันมาใส่ใจรักษาสิ่งแวดล้อมเชื่อว่า หากเรา(คนไทย)ทุกคนร่วมไม้ร่วมมือ จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
จุฬาฯนำแก้วกระดาษเพาะกล้าไม้
ด้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการทดสอบแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ (zero-waste cup) เพื่อการเพาะชำกล้าไม้เศรษฐกิจกับกรมป่าไม้ เป็นการต่อยอดในการนำแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพที่ใช้แล้วภายในโรงอาหาร จุฬาฯ 17 แห่ง เฉลี่ยประมาณ 1.2 แสนใบต่อเดือน ซึ่งแก้วนี้มีคุณสมบัติย่อยสลายได้ในดิน นำไปให้กรมป่าไม้ใช้ทดสอบเพาะชำกล้าไม้ เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า พร้อมกันนี้ยังเป็นการผลักดันการกำจัดขยะในรั้วจุฬาฯ อย่างครบวงจร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำภาพผู้นำด้านการจัดการขยะของประเทศ
ศ.ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะมูลฝอย จึงได้จัดตั้งโครงการ Chula Zero Waste เพื่อป้องกันหรือลดขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) ทำให้ในปัจจุบันโรงอาหารภายในจุฬาฯ กว่า 17 แห่ง ได้เปลี่ยนมาใช้แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ ที่ย่อยสลายได้ทั้งหมดภายใน 4-6 เดือน และนำไปใช้เป็นสารปรับปรุงดินได้
โครงการทดสอบแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพสำหรับการเพาะชำกล้าไม้นี้ จะนำแก้วที่ใช้แล้วจากโรงอาหารของจุฬาฯ ไปใส่ต้นไม้ที่ปลูกในป่า นับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด และถือเป็นการกำจัดขยะ อย่างครบวงจร สนับสนุนแนวคิดการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ หรือ PETROMAT ร่วมมือกับกรมป่าไม้ในการขับเคลื่อนให้โครงการนี้เดินหน้าได้ต่อไป เป็นการนำร่อง ขณะเดียวกันกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ หันมาใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าในอนาคตปัญหาขยะจะลดลงตามไปด้วย
ปรมินทร์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมป่าไม้เป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยในการผลิตกล้าไม้คุณภาพดีและสนับสนุนให้ประชาชนปลูกต้นไม้ ทางกรมป่าไม้จึงเพาะกล้าไม้มีค่า หรือไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก ไม้แดง ไม้พะยูง ประดู่ ไม้ชิงชัน เป็นต้น ให้ประชาชนนำไปปลูก ปีหนึ่งประมาณ 100 ล้านต้น เนื่องจากไม้เหล่านี้มีราคาสูงและยังเป็นที่ต้องการของชาวไทยและต่างชาติ
ดังนั้น กรมป่าไม้ ต้องการวัสดุในการเพาะกล้าไม้จำนวนมาก และยินดีรับแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพมาใช้ในการเพาะกล้าไม้ และอย่างน้อยจะได้ลดการใช้ถุงพลาสติกปลูกต้นไม้ได้บ้าง ซึ่งในแต่ละปีมีการใช้ถุงพลาสติกปลูกต้นไม้กว่า 30 ล้านต้น
หากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา ร้านกาแฟ พร้อมใจกันหันมาใช้แก้วที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้รวดเร็ว และมีระบบคัดแยกขยะที่ดี แล้วส่งแก้วมาให้กรมป่าไม้นำไปเพาะกล้าไม้ นอกจากปลุกจิตสำนึกและช่วยลดปัญหาขยะ ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศอีกด้วย