ไลฟ์สไตล์

พบเด็ก 'บูลลี่ในโรงเรียน' ร้อยละ 40

พบเด็ก 'บูลลี่ในโรงเรียน' ร้อยละ 40

19 ธ.ค. 2562

นักจิตวิทยาคลินิก​ เผย พบเด็กนักเรียน "บูลลี่ในโรงเรียน" ถึง 40% ​ ชงบรรจุหลักสูตรแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

 

 

             วันที่ 19​ ธ.ค.​ 2562​ -​ ผศ.ดร.สมบัติ​ ตาปัญญา​ นักจิตวิทยาคลินิก​ และนักวิชาการด้านคุ้มครองเด็ก​ กล่าวว่าเด็กที่ถูกรังแกต่อเนื่องจะแสดงอาการอยู่ 2 ประเภท​ คือ​ 1.เก็บกดจนมีอาการซึมเศร้าและทำร้ายตัวเอง​ และ 2.แสดงออกภายนอกด้วยการลงมือกระทำความรุนแรง​ ต่อสู้จนกลายเป็นอาชญากรเด็ก

          อ่านข่าว

         ล้อมคอก 'บูลลี่' ในโลกออนไลน์

         เด็ก ม.1 ขโมยปืนพ่อ ยิงเพื่อนดับแค้นหลังถูกล้อหน้าห้องเรียน

 

               ใน​ช่วงเวลาที่ผ่านมา​ มีหลายเคสที่เกิดเป็นข่าวและไม่เกิดเป็นข่าว​ ที่เป็นความรุนแรงในโรงเรียนอย่างคาดไม่ถึง​ ซึ่งเกิดมาจากการกลั่นแกล้งกัน​ งานวิจัยที่ตนเคยทำเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนพบว่ามีเด็กถูกรังแกถึง 40% เพราะฉะนั้นที่ปรากฏเป็นข่าวอาจจะเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

 

            กรณีเด็ก​ ม.1​ ลงมือยิงเพื่อนที่ล้อเลียน​ จนเสียชีวิตมีการสันนิษฐานว่าเป็นการเลียนแบบการใช้ความรุนแรงจากเกม​ด้วยนั้น ดร.สมบัติ​ บอกว่า ก็มีหลายปัจจัยที่เป็นแรงหนุนให้เกิดความรุนแรงไม่เฉพาะแค่การเลียนแบบเกม​ แต่พฤติกรรมของผู้ใหญ่​รอบตัว​ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือคนอื่นๆ​ ที่หาทางออกด้วยการใช้ความรุนแรง​ ก็มีส่วนให้เด็กเลียนแบบได้​ รวมไปถึงละคร​ ภาพยนตร์ต่างๆเพราะฉะนั้นในแต่ละเคสจึงไม่ควรลงน้ำหนักว่าสาเหตุ​เกิดจากอะไร​ ต้องพิจารณาเป็นรายๆไป

 

 

พบเด็ก \'บูลลี่ในโรงเรียน\' ร้อยละ 40

             แต่จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน​ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น​ กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน​ หรือสพฐ.​ ได้เชิญตนให้เข้าร่วมประชุม​ เพื่อหาทางออกปัญหาเด็กรังแกในโรงเรียน​ วันที่ 26 ธันวาคมนี้ เพื่อเตรียมลงพื้นที่สำรวจสถิติ​ เด็กที่รังแกกันทั้งประเทศ​ โดยใช้เวลาในการสำรวจประมาณ 5 เดือน​ ก่อนที่จะกำหนดเป็นนโยบายแก้ไขปัญหาในระยะยาว

 

           ดร.สมบัติ​ มีข้อเสนอเชิงนโยบาย​ โดยยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาของต่างประเทศ​ ที่มีการออกกฎหมายให้โรงเรียนต่างๆ​ ต้องมีกิจกรรมป้องกันการรังแกกัน​ มีบททดสอบ​ และการประเมินผล​ ซึ่งหากสถานศึกษาหรือโรงเรียนใดไม่ปฏิบัติตามก็จะมีบทลงโทษ​ เช่น​ การตัดงบประมาณ​ เป็นต้น​

 

            รูปแบบในการจัดกิจกรรม​ ก็อย่างเช่น​ การสร้างสันติวัฒนธรรม​ในโรงเรียน​ โดยครูและผู้ปกครอง​ ต้องมีวิธีการลงโทษโดยไม่ใช้การลดความรุนแรง​ เพื่อเด็กให้เห็นว่าทางออกวิธีอื่น​ ที่แก้ปัญหาได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง​ มีการอบรม​ เรียนรู้การจัดการความขัดแย้ง​ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงหรือการกลั่นแกล้ง​ โดยบรรจุลงไปในหลักสูตร​ ซึ่งประเทศที่มีการบรรจุหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องการจัดการกับความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงตัวอย่างเช่น​ ประเทศเดนมาร์ก​ ฟินแลนด์​ เยอรมนี​ เป็นต้น

 

             จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสอน​ ให้เด็กรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ว่าเวลาถูกทำร้ายต้องทนทรมานแค่ไหน​ ให้รับรู้ความเจ็บปวดของคนอื่น​ ถ้าเด็กเข้าใจคนอื่นก็จะไม่รังแกกัน หากรัฐ​ยังปล่อยปละละเลยให้สถิติการรังแกกันในโรงเรียนมีเพิ่มสูงขึ้น​ ก็จะส่งผลกระทบไปยังเด็กที่ถูกรังแกให้เกิดความกังวล​ สูญเสียคุณค่าในตัวเอง​ ส่วนเด็กผู้รังแกก็จะกลายเป็นขาใหญ่ประจำโรงเรียน​ เมื่อโตขึ้นมา​ หากเป็นนักการเมืองก็จะไม่เห็นหัวประชาชน

 

          นักจิตวิทยา​คลินิก​ บอกว่า​ กรณีเด็กชายชั้น​ ม. 1 ที่ยิงเพื่อนจนเสียชีวิตต้องอธิบายให้สังคม เข้าใจว่าเขาถูกรังแก และต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งถ้าเราช่วยกันทัน​ ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น โดยก่อนที่จะมีนโยบายใดๆออกมาการแก้ไขปัญหาระยะสั้นคือต้องปลูกจิตสำนึกให้กับครูและผู้ปกครองให้เห็นว่าการรังแกกันล้อเลียนกลั่นแกล้งในโรงเรียนไม่ใช่ปัญหาเล็กๆแต่เป็นปัญหาใหญ่ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง​ ซึ่งจะต้องสอดส่องดูแล​ ตักเตือนไม่ให้เกิดขึ้น