วิจัยพืชชายฝั่งตรวจจับน้ำมันรั่ว เฝ้าระวังระบบนิเวศทางทะเล
ผลงานนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล วิจัยพืชชายฝั่งตรวจจับน้ำมันรั่วไหล ระบุมีทั้ง "ผักบุ้งทะเล-หญ้าไหวทาม" ทำหน้าที่ "ยามชายฝั่ง" สามารถเฝ้าระวังระบบนิเวศทางทะเลได้ดี
การเกิดน้ำมันรั่วไหลในท้องทะเล ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่ง รวมถึงทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ม.มหิดล ชี้รังสี UV ฆ่าเชื้อไวรัส Covid-19 ได้ หากใช้ถูกวิธี
ซึ่งสาเหตุของการรั่วไหลเกิดขึ้นได้ทั้งตามธรรมชาติ และเกิดจากการกระทำของมนุษย์ โดยคราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำจะทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบริเวณนั้น รวมถึงอัตราการสังเคราะห์แสงของพืชที่ขึ้นเจริญเติบโตอยู่ในน้ำทะเล
รองศาสตราจารย์ ดร.ปวีณา ไตรเพิ่ม ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดทั้งวิกฤติ และโอกาส โดยช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้าน เพื่อรักษาระยะห่างป้องกันการติดเชื้อ (Social Distancing) กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เหล่าสิ่งมีชีวิตรวมถึงพืชพรรณต่างๆ ในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะได้ว่างเว้นจากการถูกทำลายโดยมนุษย์
ที่ผ่านมา ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลบอบช้ำจากการรั่วไหลของน้ำมันที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ โดยสาเหตุหลัก ได้แก่ จากการขุดเจาะ ขนส่ง และลักลอบปล่อยน้ำมันลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่ง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ ได้สนับสนุนให้นักศึกษาระดับปริญญาโทศึกษาวิจัยและประเมินความสามารถของพืชในการเป็น Bioindicator เพื่อตรวจจับน้ำมัน โดยเปรียบเทียบระหว่าง “ผักบุ้งทะเล” ซึ่งเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ และ “หญ้าไหวทาม” ซึ่งเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว โดยคาดว่าผลจากการศึกษาพืชเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการตรวจจับการปนเปื้อนของน้ำมันในธรรมชาติได้
นางสาวญาณิศา โอฬารานนท์ นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการพืช (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.ปวีณา ไตรเพิ่ม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ศึกษาวิจัย เรื่อง “ผลกระทบของน้ำมันดิบต่อพืชชายฝั่งทะเล” กล่าวเสริมว่า พืชเป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญต่อระบบนิเวศ โดยพืชชายฝั่งทะเลเปรียบเสมือน “ยามชายฝั่ง” ที่อาจตรวจจับการรั่วไหลของน้ำมัน และส่งสัญญาณให้เรารับรู้ได้แม้ว่ามีการปนเปื้อนเพียงเล็กน้อย
จากการศึกษาโครงสร้างภายในของพืชเปรียบเทียบกันระหว่างพืชที่ได้รับน้ำมันดิบ และไม่ได้รับน้ำมันดิบ พบว่า “หญ้าไหวทาม” มีคุณสมบัติในการเป็น Bioindicator ตรวจจับน้ำมันดิบได้ เนื่องจากมีความสามารถในการปรับตัวเมื่อได้รับน้ำมันดิบในความเข้มข้นเพียงร้อยละ 1 โดยมีการปรับเปลี่ยนลักษณะเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้นานถึง 120 วัน ในขณะที่ “ผักบุ้งทะเล” มีความสามารถในการปรับตัวที่น้อยกว่าและไม่สามารถทนต่อน้ำมันดิบได้
จากผลการวิจัยนี้สามารถนำไปถ่ายทอดเป็นความรู้ให้กับคนทั่วไปเพื่อประยุกต์ใช้ “หญ้าไหวทาม” เป็นเครื่องมืออย่างง่ายและราคาถูกสำหรับตรวจจับการปนเปื้อนของน้ำมันดิบในเขตชุมชนนั้นๆ และใช้ “ผักบุ้งทะเล” เป็นกรณีศึกษาเพื่อปลูกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล เนื่องจากพืชหลายชนิดอาจไม่สามารถทนทานต่อการปนเปื้อนได้เช่นเดียวกับผักบุ้งทะเล
นางสาวญาณิศา โอฬารานนท์ จะร่วมเสนอผลงานแบบปากเปล่า (Oral Presentation) ในกลุ่มวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ระดับปริญญาโท เพื่อเข้าชิงรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น จัดโดย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2563 ระหว่างเวลา 09.00 - 11.00 น. ผ่าน Zoom ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียด และลงทะเบียนเพื่อเข้าฟังแบบออนไลน์ได้ที่ https://www.facebook.com/grad.mahidol สอบถาม email : [email protected]