เปิดนโยบาย ' ตรีนุช ' โควิดไม่ด่วน วัคซีนไม่รีบ เน้นสู่ความเป็นเลิศ
อะไรที่ขาดหายไป เมื่อเปิดนโยบาย ' ตรีนุช เทียนทอง' โควิดไม่ด่วน วัคซีนไม่รีบ เน้นสู่ความเป็นเลิศ บทวิเคราะห์โดย ชัยวัฒน์ ปานนิล
หลังมีการระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ติดต่อกันมา 3 ปี ไม่เคยปรากฏว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มีการกำหนดแนวนโยบายที่ชัดเจน หรือมีการปรับเปลี่ยนการทำงาน ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษา หรือปรับเปลี่ยนวิธีการสอน ที่ชัดเจนแต่อย่างใด ยังคงวนเวียนอยู่กับบทบาทเดิมๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เราจะคิดและจะเรียนแบบไหนดี "ตรีนุช" ตั้งคำถามผอ.เขตทั่วประเทศ
ด่วน.."ตรีนุช" กักตัวเอง 14 วัน หลังผู้เข้าร่วมแสดงความยินดีรับตำแหน่ง ติดโควิด
ล่าสุด ในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 ในยุค ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)
โดยยกหลักการและเหตุผลที่ว่า กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนา และเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
โดยเฉพาะแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ การพัฒนาเด็กตั้งแต่ช่วงการตั้งครรภ์จนถึงปฐมวัย การพัฒนาช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น การพัฒนาและยกระดับศักยภาพวัยแรงงาน รวมถึงการส่งเสริมศักยภาพวัยผู้สูงอายุ ประเด็นการพัฒนาการเรียนรู้ที่ตอบสนอง ต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง
มองข้ามในส่วนนโยบายหลักไปก่อน ย้อนมองมาที่นโยบายเร่งด่วน 7 ข้อ ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เรียกว่า นโยบายระยะเร่งด่วน (Quick Win)
นโยบายระยะเร่งด่วน (Quick Win) มีดังนี้
1. ความปลอดภัยของผู้เรียน โดยจัดให้มีรูปแบบ วิธีการ หรือกระบวนการในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีความสุข และได้รับการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการสร้างทักษะให้ผู้เรียนมีความสามารถในการดูแลตนเองจากภัยอันตรายต่าง ๆ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางสังคม
2. หลักสูตรฐานสมรรถนะ มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ
3. ฐานข้อมูล Big Data มุ่งพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและไม่ซ้ำซ้อน เพื่อให้ได้ข้อมูลภาพรวมการศึกษาของประเทศที่มีความครบถ้วน สมบูรณ์ ถูกต้องเป็นปัจจุบัน และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
4. ขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) ตามความเป็นเลิศของแต่ละสถานศึกษาและตามบริบทของพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนมีการจัดการเรียนการสอนด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย สอดคล้องกับเทคโนโลยีปัจจุบัน
5. พัฒนาทักษะทางอาชีพ ส่งเสริมการจัดการศึกษาที่เน้นพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
6. การศึกษาตลอดชีวิต การจัดเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย ให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ประชาชนในแต่ละช่วงวัยได้รับการศึกษาตามความต้องการอย่างมีมาตรฐาน เหมาะสมและเต็มตามศักยภาพตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา และพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมเพื่อเตรียม ความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
7. การจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ส่งเสริมการจัดการศึกษาให้ผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ สามารถดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีเกียรติ ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับผู้อื่นในสังคม สามารถช่วยเหลือตนเอง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
คำว่า “เร่งด่วน” คือต้องปฏิบัติทันที หากไม่ปฏิบัติจะเกิดความเสียหาย และต้องเห็นผลในระยะเวลาอันสั้น ไม่น่าจะเกิน 3 เดือน จากการสังเกตพบ ในนโยบายระยะเร่งด่วน (Quick Win) ของกระทรวงศึกษาธิการที่ประกาศออกมา ไม่มีเรื่องการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปรากฏให้เห็น ยังคงเป็นภาพมุมกว้าง ในเรื่องของ หลักสูตร ฐานข้อมูล Big Data การพัฒนาเทคโนโลยีและความเป็นเลิศ สบายๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
มีเพียง 1 ข้อ ที่กล่าวถึง ความปลอดภัยของผู้เรียน แต่ก็เป็นเรื่องของ การดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีความสุข และได้รับการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัย ซึ่งน่าจะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเป็นหน้าที่ของประเทศชาติที่จะต้องดูแลเยาวชน
ในสถานการณ์เช่นนี้ ควรอย่างยิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องมีความเด็ดขาดและชัดเจน กล้าคิด กล้าเปลี่ยน เพื่อความอยู่รอด ไม่ใช่เน้นความเป็นเลิศ
ยกตัวอย่าง เช่น การเปิดเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมอบให้เป็นดุลพินิจของ ผู้บริหารสถานศึกษา ในการตัดสินใจเปิดเรียน และเลือกรูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอนที่มีไว้ให้อย่างจำกัด คือ ONLINE ON-AIR ON HAND และ ON SITE ผลก็ปรากฏอย่างที่เห็น มีหลายจังหวัดตัดสินใจปิดเรียนทั้งจังหวัด หลังเปิดเรียนได้ไม่กี่วัน เพราะมีครู นักเรียนและผู้ปกครองติดโรคโควิด19
ทำให้สรุปได้ว่า ที่ผ่านมา ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่เข้าใจการศึกษา เข้าไม่ถึงกระทรวงศึกษาธิการปฏิบัติตัวเหมือนผู้เข้าชมนิทรรศการเท่านั้น เชื่อทุกอย่างที่ข้าราชการนำเสนอ ไม่เปิดกว้างในการรับฟัง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสิน ไม่กล้ารับผิดชอบ การมอบหมายให้ผู้ปฏิบัติใช้ดุลพินิจในทุกเรื่อง
แม้ว่าที่ผ่านมาจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่ก็ควรที่จะรีบแก้ไข อย่าเอาแต่ เปิดงาน แถลงข่าว เยี่ยมชมให้กำลังใจไปวันๆ รีบทำงานในหน้าที่ก่อนที่จะมีใครประกาศ คนหาย หรือก่อนที่จะมีคนถามว่า เขาแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่แล้วหรือยัง เพราะ "มี" ก็เหมือน "ไม่มี"