ไลฟ์สไตล์

ไม่คิดว่าจะมีอยู่จริง "ครูธุรการ" ลูกจ้างนอก ม.33 ของกระทรวงศึกษาธิการ

ไม่คิดว่าจะมีอยู่จริง "ครูธุรการ" ลูกจ้างนอก ม.33 ของกระทรวงศึกษาธิการ

08 ก.ค. 2564

ผลพวงจากนโยบายในอดีต ทำให้วันนี้ มีครูที่ไม่คิดว่าจะมีอยู่จริง "ครูธุรการ" ลูกจ้างนอก ม.33 ของกระทรวงศึกษาธิการ....บทวิเคราะห์โดย ชัยวัฒน์ ปานนิล

เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียน หรือ ครูธุรการ ลูกจ้างกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นมดงานในโรงเรียน จากคำอ้างที่ว่า “คืนครูให้นักเรียน” ด้วยค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีประกันสังคม ไม่มีค่าล่วงเวลา แถมยังต้องสามารถปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตามที่นายจ้างสั่ง

 

เริ่มจาก ปี 2552 ในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ คณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้อนุมัติหลักการโครงการ “คืนครูให้นักเรียน” โดยจัดหาบุคลากรมาปฏิบัติงานแทนครู จำนวน 23,277 อัตรา เป็นระยะเวลา 4 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 – 2555)

เพื่อให้ข้าราชการครูที่ต้องปฏิบัติงานอื่น ซึ่งไม่ใช่ภารกิจหลักในการพัฒนาผู้เรียนได้กลับไปปฏิบัติงานตามภารกิจหลัก คือ จัดกิจกรรมการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

โดยจัดหาบุคลากรทางการศึกษาอื่น (อัตราจ้าง) จำนวน 14,532 อัตรา มาปฏิบัติงานอื่นซึ่งไม่ใช่ภารกิจหลักในการพัฒนาผู้เรียน

ทั้งหมดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ “ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน” ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ธุรการ

ต่อมาในปี 2562 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) แจ้งให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ทราบว่า “ตาม พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 สำนักงบประมาณ ได้แจ้งกรอบการจัดสรรงบประมาณ โดยไม่ได้จัดสรรเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และให้ปรับวิธีจ้างลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน เป็นการจ้างเหมาบริการ” ทำให้สถานะของ เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียน หรือ ครูธุรการ เปลี่ยนไปทันที โดยไม่สามารถต่อรองหรือเจรจาใดๆ ได้ นอกจากก้มหน้ารับเอาไว้

สิ่งที่เปลี่ยนไปสำหรับคำว่า “ลูกจ้างเหมาบริการ” จะทำให้ไม่ได้รับสิทธิประกันสังคมและไม่มีเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตน หากจะลางานก็จะไม่ได้รับค่าจ้างในวันที่ลา ไม่ได้รับค่าตอบแทนเวลาปฏิบัติงานนอกเวลา และให้จ่ายค่าเงินประกันในการเข้างาน 5 % ของเงินเดือน เพื่อแสดงเจตนาว่า จะไม่ละทิ้งงาน

กลับมาที่ บทบาทและหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง มีการกำหนดขอบเขตของงานที่จ้างและงานที่รับผิดชอบไว้ ดังนี้

1. งานธุรการ สารบรรณ จัดเก็บเอกสาร หลักฐาน ทะเบียน และหนังสือราชการต่างๆ ทั้งระบบ e-office การทำลายเอกสาร

2. งานพัสดุ จัดลงทะเบียน คุมการเบิกจ่าย การจัดเก็บ รักษาดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย

3. งานข้อมูลสารสนเทศ จัดระบบทะเบียน ระเบียนข้อมูล การสำรวจและบันทึกข้อมูล จัดทำรายงานข้อมูล จัดส่ง และรับข้อมูลในระบบ ICT

4. งานการประสานงาน การติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานส่วนราชการอื่นๆ ชุมชนและท้องถิ่น ให้บริการ แก่ ประชาชนหรือผู้มาขอรับบริการ หรือติดต่อราชการ

5. งานอื่นๆ ที่ผู้ว่าจ้างหรือผู้แทนมอบหมาย

นอกจากนั้น ได้มีการกำหนดข้อบังคับและระเบียบการทำงาน ดังนี้

1. ผู้รับจ้างต้องปฏิบัติงานในวันและเวลาราชการ โดยต้องลงเวลาปฏิบัติงานทุกครั้ง ที่เข้าทำงานและเลิกงาน

2. ผู้รับจ้างต้องปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ เพื่อทำงานเร่งด่วนเป็นครั้งคราวตามระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด

3. ผู้รับจ้างต้องเดินทางไปปฏิบัติงานนอกพื้นที่เป็นครั้งคราวตามระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด

เท่าที่เห็นการกำหนดของข่ายงานเป็นไปกว้างๆ และไม่มีปริมาณงานที่ชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นไปตามที่ผู้จ้างกำหนด แม้กระทั้งเวลาปฏิบัติงานก็ไม่ชัดเจน แทบจะบอกได้ว่า ต้องพร้อมปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง

ต่อมาเกิดเหตุการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโลนา 2019 ( COVID-19) และมีการเยียวยา ให้กับผู้ประกันตน ตาม ม.33

ตามโครงการ ม.33 เรารักกัน ที่รัฐบาลจัดทำขึ้น เพื่อเป็นการเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 มีจำนวน 9.27 ล้านราย โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือจำนวน 4,000 บาท ให้กับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com

สำหรับผู้ประกันตน ตาม มาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่ทำงานให้กับนายจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป หากอธิบายง่ายๆ ก็คือ ลูกจ้าง หรือพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป ถือเป็นผู้ประกันตนภาคบังคับตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ที่นายจ้างต้องขึ้นทะเบียนให้ลูกจ้าง การจ้างเหมาไม่นับเป็นลูกจ้าง

ประเทศไทยมีจำนวนคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมกว่า 16 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มากที่สุด คือประมาณ 11 ล้านคน

ในนั้นไม่มี เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียน (ครูธุรการ) รวมอยู่ด้วย จึงทำให้พลาดที่จะรับสิทธิ์ในการเยียวยา แม้จะปฏิบัติงานมานาน

ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียน (ครูธุรการ) ปฏิบัติงานในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งบทบาทที่เข้ามาในตอนแรกเหมือนจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ครูได้ปฏิบัติการสอนได้อย่างเต็มที่ หรือการ “คืนครูให้นักเรียน”

แต่เมื่อเวลาผ่านไป นอกจะไม่มีความก้าวหน้า ไม่มีความมั่นคง กลับมีแต่ความลดทอนของลักษณะตำแหน่ง การหายไปของสวัสดิการ ค่าจ้างค่าแรงที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และมีแนวโน้มว่าจะถูกเลิกจ้างในที่สุด เหมือนที่กระทรวงศึกษาธิการเคยทำกับ บุคลากรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา กิจกรรมครูคลังสมอง อย่างไม่ใยดี

ขอยกตำแหน่ง กรรมกรไร้สวัสดิการ ให้กับ เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียน หรือครูธุรการ ทุกคน แม้ใครจะมองว่า ไร้ค่า ไม่มีความสำคัญ แต่อย่าลืมว่า ทุกคนมีส่วนในการสร้างอนาคตของชาติ มาตลอดระยะเวลา 10 ปี เป็นส่วนหนึ่งในความภูมิใจที่เด็กนักเรียนทุกคนเรียกเราว่า "ครู"

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลอกครูและคนทั้งประเทศ 'เลื่อนการเปิดเทอมทิพย์' อีกแล้ว

หลอกแล้วหลอกอีก เลื่อนแล้วเลื่อนอีก สุดท้ายไม่มีทั้ง "วัคซีน-เปิดเทอม"

เมื่อ อนุทิน "ลอกการบ้าน" ไทยรักไทย ส่งให้ประชาชนตรวจ ผ่านหรือไม่ผ่าน