ไลฟ์สไตล์

นักเคมี ม.มหิดล แนะอย่ากลัว "สารเคมี" แต่ควรเรียนรู้อยู่กับสารเคมี

นักเคมี ม.มหิดล แนะอย่ากลัว "สารเคมี" แต่ควรเรียนรู้อยู่กับสารเคมี

09 ก.ค. 2564

นักเคมี ม.มหิดล แนะอย่ากลัว "สารเคมี" แต่ควรเรียนรู้อยู่กับสารเคมี อย่างไรเพื่อให้ปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

สารเคมีอยู่รอบตัวเรา เราทุกคนต่างต้องใช้ชีวิตอยู่กับสารเคมีซึ่งเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น หากทุกคนได้เรียนรู้ที่จะประเมินความเสี่ยงจากอันตรายของสารเคมี จะทำให้อยู่กับสารเคมีได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน

 

รองศาสตราจารย์ ดร.เอกสิทธิ์ สมสุข อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สารเคมีที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ ส่วนใหญ่จะเก็บไว้เพื่อใช้ทดลองในปริมาณที่ไม่มาก จึงไม่เป็นอันตรายเท่าสารเคมีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม

ซึ่งตามมาตรฐานความปลอดภัย จะต้องมีการประเมินความเสี่ยงของความอันตราย มีระบบที่ตรวจจับความอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ที่สำคัญโรงงานที่ใช้สารเคมีอันตรายควรตั้งอยู่ในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม และอยู่ห่างไกลจากเขตชุมชน

อุบัติเหตุโรงงานกิ่งแก้วอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากการทำปฏิกิริยาจนเกิดความร้อน และแรงดัน หรือมีการรั่วของแก๊สที่ทำให้ติดไฟ จนทำให้เกิดการระเบิด โดยได้มีการยับยั้งอุบัติเหตุด้วยการพยายามใช้โฟมในการดับไฟ และพยายามปิดวาล์วเพื่อทำให้สารเคมีออกสู่สิ่งแวดล้อมน้อยลง

จากนั้นทำให้อุณหภูมิของถังเก็บสารเคมีต่ำลงด้วยการหล่อเย็น เพื่อที่จะยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาที่ไม่คาดฝัน

รองศาสตราจารย์ ดร.เอกสิทธิ์ ได้แนะนำกรณีเกิดการระเบิดเพลิงไหม้จากสารเคมีอันตราย ในเบื้องต้นควรหลีกหนีสถานที่เกิดเหตุให้ไกลจากความอันตราย ควรหลีกเลี่ยงการสูดดมสารที่ระเหยออกมา อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก

ไม่ใช้หน้ากากอนามัยซึ่งไม่สามารถป้องกันอันตรายจากการระเหยของสารเคมีได้ นอกจากนี้ หากสารเคมีโดนผิวหนังควรล้างด้วยน้ำสบู่ แต่ถ้าโดนดวงตาให้ล้างด้วยน้ำสะอาด และถ้าถึงกับเกิดอาการหมดสติควรรีบส่งพบแพทย์

“ในฐานะนักเคมี ไม่อยากให้ทุกคนกลัวสารเคมี แต่ควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับสารเคมีด้วยความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รู้จักการประเมินความเสี่ยงของความอันตราย เพื่อลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดฝัน"รองศาสตราจารย์ ดร.เอกสิทธิ์  ระบุ

รองศาสตราจารย์ ดร.เอกสิทธิ์ ให้รายละเอียดอีกว่า ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการเปิดสอนรายวิชาความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการให้กับนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ ในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ปริญญาตรี ปริญญาโท ไปจนถึงปริญญาเอก

นอกจากนี้ยังได้มีการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยมหิดลได้ลงทะเบียนเรียน MU LabPass ออนไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าศึกษาจริงในห้องปฏิบัติการ

"และก้าวต่อไปจะผลักดันให้เป็นหลักสูตรอบรมออนไลน์ระยะสั้น สำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการส่งเสริมสังคมอุดมปัญญา ด้วยองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมจะมอบให้ในฐานะที่เป็น ”ปัญญาของแผ่นดิน“ ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดลต่อไปอีกด้วย” รองศาสตราจารย์ ดร.เอกสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว" เสียหาย 700 ล้านบาท ยังคุมไม่อยู่ จนท.ถอน ไฟลามถังน้ำมัน

ย้อนรอย 3 เหตุการณ์ "ไฟไหม้" อันน่าสะพรึง จากซานติก้า สู่ "โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้"
"ไฟไหม้กิ่งแก้ว" ทำบ้านเรือนพังไม่ต่ำกว่า 70 หลัง เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 29 ราย 

คพ.เตือนมลพิษ"ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว"เกินค่ามาตรฐานกระจายไปไกลถึง9กม.

ด่วน ระเบิดอีกรอบ "ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว" มีเจ้าหน้าที่เจ็บ (มีคลิป)