"เรียนออนไลน์ทั้งปี" รับมือโควิด-19 อยู่อีกยาวนาน
บอร์ดกพฐ. นัดทิ้งทวน ยอมรับโควิด-19 อยู่อีกยาวนานแนะครูต้องปรับวิธีสอน พัฒนาสมรรถนะดิจิทัล อาจจะต้องเรียนออนไลน์ทั้งปี
เมื่อยอมรับความจริงก็จะมองเห็นปัญหา เมื่อทราบปัญหาก็จะมองเห็นทางแก้ไข การพัฒนาสมรรถนะดิจิทัล (Digital Competency : DC) สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา และการปรับตัวชี้วัด ที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะของเด็ก มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน หากยังใช้ตัวชี้วัดแบบเดิม ก็จะทำให้เกิดปัญหาได้ เพราะวิธีการจัดการเรียนการสอนได้เปลี่ยนไป
เมื่อวันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2564 ได้มีการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (บอร์ดกพฐ.) ครั้งที่ 7/2564 ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธาน(ประธานบอร์ดกพฐ.)ในการประชุม เพื่อหารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)
ว่ากันว่า สพฐ. รายงานให้ที่ประชุมรับทราบ ในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนในสถานการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เบื้องต้นคาดว่า ทุกโรงเรียนจะต้องจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์หรือเรียนออนไลน์ทั้งปี ตลอดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564
เชื่อว่าไม่สามารถเปิดสอนในโรงเรียนหรือ ON-SITE ได้ เพราะยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก จากนั้นจะประเมินสถานการณ์ เพื่อดูว่าจะสามารถเปิดเรียนภาคเรียนที่ 2 ได้หรือไม่
เป็นการยอมรับความจริงและเป็นการมองเห็นปัญหา ของผู้บริหารสพฐ. ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา
หลังจากนั้น นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานบอร์ดกพฐ. ได้กล่าวว่า ในที่ประชุม ได้พูดคุยกันถึงเรื่อง ระดับสมรรถนะดิจิทัล (Digital Competency : DC) สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ คือระดับขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง และขั้นสูง
โดยขั้นพื้นฐานจะมี 3 ขั้น ขั้นกลาง 2 ขั้น และขั้นสูง 2 ขั้น รวมทั้งสิ้นเป็น 7 ขั้น และในแต่ละระดับต้องมีสมรรถนะที่จำเป็นใน 3 ด้าน คือ ความรู้ ทักษะ และการประยุกต์ใช้
ทั้งนี้มีการกำหนดว่าในแต่ละระดับต้องมีสมรรถนะที่จำเป็นมากน้อยอย่างไร แล้วจึงยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับครูในปัจจุบันและครูในอนาคต อย่างเช่น คณะครุศาสตร์หรือคณะศึกษาศาสตร์ที่ผลิตครู ก็สามารถจัดเตรียมนักศึกษาที่เรียนทางด้านครูให้มุ่งเน้นเข้าไปสู่ทักษะดังกล่าวนี้ได้
และยังสามารถเข้ารับการทดสอบที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (ศูนย์ HCEC) ของกระทรวงศึกษาธิการได้
นายเอกชัย ระบุว่า ในส่วนของการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ มีความกังวลในเรื่องของ ตัวชี้วัดประเมินผล ซึ่งต้องมาคุยกันว่าทำอย่างไร ที่จะให้ตัวชี้วัดเป็นตัวที่จำเป็นจริงๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะของเด็ก เพราะหากยังใช้ตัวชี้วัดแบบเดิมก็จะทำให้เกิดปัญหาได้
โดยครูจะต้องพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนสอน เพราะปัญหาของการเรียนออนไลน์ตอนนี้ คือ การยกห้องเรียนไปไว้ที่บ้าน ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะให้เด็กมานั่งหน้าจอตลอดเวลาตั้งแต่ 08.00-12.00 น.
ที่ประชุมก็ได้เสนอว่า ครูอาจจะนำวิชาเดียวกันมาเรียนต่อเนื่องกันในครั้งเดียวไปเลย หรือในกรณีที่ครูสอนแล้วมีการอัดคลิปวิดีโออยู่แล้ว เด็กบางคนที่ไม่สะดวกเข้าเรียนในช่วงเวลานั้นๆ ก็สามารถเลือกเวลาเรียนที่ตัวเองสะดวกได้ จะทำให้เด็กมีแรงบันดาลใจในการเรียนมากกว่า
เป็นการเริ่มต้นที่ดี มาช้าดีกว่าไม่มา ผู้บริหารสพฐ. ควรเลิกมองการบริหารแบบองค์รวมได้แล้ว ควรจำแนก หน่วยงานและครู ออกตามระดับชั้นและภารกิจ ควรให้ความสำคัญกับหน่วยงานในสังกัดให้มากที่สุด ส่วนหน่วยงานในกำกับ ก็ควรปรับลดบทบาทให้เหมาะสม
เมื่อถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนก็ควรทำกับหน่วยงานในสังกัดสพฐ.ให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้นก็เอาผลที่ได้ไปปรับใช้กับหน่วยงานในกำกับ เช่น โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา โรงเรียนเอกชน และสถานบันอาชีวะ มีความเหมือน มีความแตกต่าง และบริบทที่ไม่เหมือนกัน
การสั่งการใดๆ ควรจะจำแนกให้ชัดเจน เพราะทุกโรงเรียนมีความพร้อมไม่เหมือนกัน ไม่สั่งการแบบเติมคำในช่องว่างหรือแล้วแต่"ดุลพินิจ" ของผู้อำนวยการสถานศึกษาอีกต่อไป
การพัฒนาครูและนักเรียนให้มีสมรรถนะดิจิทัล (Digital Competency : DC)ก็เป็นสิ่งที่ควรเร่งรีบดำเนินการ เริ่มจากการวัดความสามารถของครูกับนักเรียนก่อนก็ได้ ไม่ใช่ไปเน้นที่การจัดหาอุปกรณ์และการใช้งบประมาณ
บทเรียนที่ผ่านมาในอดีตก็ทำให้เห็นอยู่ว่า การจัดหาอุปกรณ์ให้กับโรงเรียนเป็นการสูญเปล่าหากบุคลากรไม่ได้รับการพัฒนาควบคู่กันไป
ในเรื่องของ ตัวชี้วัดประเมินผล ทำอย่างไร ที่จะให้ตัวชี้วัด เป็นตัวที่จำเป็นจริงๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะของเด็ก ในรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป อะไรควรลด อะไรควรเพิ่ม สพฐ.ควรจะระดมนักวิชาการมาจัดทำในส่วนนี้ได้แล้ว ดีกว่าที่จะเน้นการประเมินติดตาม ที่หลายคนมองว่าเป็นการสร้างภาระให้กับ ครู และโรงเรียนในช่วงเวลาที่ที่มีความยุ่งยากและไม่เหมาะสม
สาระการประชุดนัดสั่งลาตำแหน่งประธานบอร์ดกพฐ.ของนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ เชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้ถึงหู "ครูเหน่ง" ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)รับทราบและนำไปสู่มาตรการต่างๆในเวลาต่อมา
อย่าลืมว่า กระทรวงศึกษาธิการ โดยผู้บริหารสพฐ. เสียโอกาสมาไม่น้อยกว่า 2 ปีหลังเกิดการะแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เชื่อว่าเริ่มปรับเปลี่ยนตอนนี้ก็ยังไม่สาย โควิดยังอยู่กับเราอีกนานการเรียนออนไลน์ทั้งปีจึงเป็นสิ่งที่ไม่อยู่เหนือความคาดหมาย นะขอบอกๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"โรงเรียนชื่อดัง" ล็อกดาวน์โควิดประกาศ "ลดคาบเรียนออนไลน์"
ถ้าครูต้องโกหกผ่าน "แบบประเมิน" ความเสี่ยงโควิด แล้วใครจะพูดความจริง
ไม่คิดว่าจะมีอยู่จริง "ครูธุรการ" ลูกจ้างนอก ม.33 ของกระทรวงศึกษาธิการ
เมื่อ อนุทิน "ลอกการบ้าน" ไทยรักไทย ส่งให้ประชาชนตรวจ ผ่านหรือไม่ผ่าน
หลอกครูและคนทั้งประเทศ 'เลื่อนการเปิดเทอมทิพย์' อีกแล้ว