"รมว.ศธ." ตื่นรู้ สั่งสำรวจชีวิตครู-นักเรียน "เรียนออนไลน์"ช่วงโควิด19
"รมว.ศธ." ตื่นรู้ สั่งสำรวจชีวิต ครู-นักเรียน "เรียนออนไลน์" ช่วงโควิด19 หวังนำมาแก้ปัญหา เผยรับอาสาสมัครครูนักประเมิน 250 คน1วันเต็ม ระบุ 5 ส.ค.นี้ประชุมทางไกล กำหนดแนวทางสำรวจ รวมถึงผลกระทบผู้ปกครอง
คืบหน้าหลังกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ให้อำนาจแต่ละพื้นที่ใช้ดุลพิจในการจัดการเรียนการสอน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19
ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ศธ.ได้มอบนโยบายและวางแผนกับทุกส่วนราชการในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด19
ใน 5 รูปแบบ (Online/On Air/On Demand/On Hand/On Site) นั้น ตนเห็นว่าเด็กนักเรียน และครูได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนรูปแบบดังกล่าวมาสักระยะแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลจากบริบทของแต่ละพื้นที่ว่า เกิดปัญหาและอุปสรรคที่ชัดเจนอะไรหรือไม่
รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า ตนจึงมีความกังวลและมีความห่วงใยในการดำเนินการดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะมีสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ที่มีบริบทที่แตกต่างกันเป็นจำนวนมาก จึงต้องการรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน ครู และผู้ปกครองในแต่ละพื้นที่เพื่อสะท้อนปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนมายังศธ.เพื่อที่กระทรวงศึกษาธิการจะได้รับทราบ แก้ไขปัญหา และปรับนโยบายได้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น
" จึงได้มีการประชุมหารือกันถึงแนวทางในการได้มาถึงข้อมูลที่จะนำมาสู่การแก้ไขปัญหา และได้มอบหมายให้ นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้หาแนวทางและวิธีการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลและการประเมินแบบเร่งด่วนภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้" รมว.ศธ. กล่าว
“ขณะนี้ได้รับทราบข้อมูลว่าได้วางแผนและวางระบบวิธีการเก็บข้อมูลจากนักเรียน ครู และผู้ปกครองจากพื้นที่ต่าง ๆ ในทุกภูมิภาคของประเทศ ผ่านกลไกใหม่ที่เรียกว่าการประเมินแบบเร่งด่วน ซึ่งเป็นวิธีการที่นานาชาติใช้กัน และเป็นวิธีการที่จะสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้อย่างรวดเร็วจากสภาพความเป็นจริงและเชื่อถือได้" รมว.ศธ.กล่าว
รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 4 แห่ง คือ คณะวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา, ภาควิชาวิจัยและพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรและคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และข้าราชการครูที่มีความรู้ความสามารถด้านวิชาการ
"ซึ่งจะกระจายพื้นที่ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ “อาสาสมัครครูนักประเมิน”(Rapid Appraisal Volunteer : RAV) ซึ่งผู้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมเป็น RAV Team ในครั้งนี้คือ ครู ผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือศึกษานิเทศก์ ที่มีพื้นฐานการวิจัยและประเมิน (จบ ป.โท – ป.เอก) จะเป็นผู้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากโรงเรียน หรือพื้นที่ต่าง ๆ และประเมินผลแบบเร่งด่วน ส่งผลกลับมายังส่วนกลาง เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปได้อย่างรวดเร็ว”รมว.ศธ.กล่าว
รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า ทั้งนี้โครงการนี้ได้เปิดรับผู้ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการประมาณ 250 คน ซึ่งทราบว่าขณะนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการเต็มจำนวนแล้วภายในระยะเวลา 1 วัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีและก็รู้สึกดีใจที่มีผู้ที่เห็นความสำคัญและได้อาสามาช่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ
ซึ่งหลังจากนี้สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้กำหนดให้มีการจัดการประชุมชี้แจงแนวทางและวิธีการดำเนินงานให้กับอาสาสมัครดังกล่าว ในวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ที่จะถึงนี้ ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งตนเองก็จะเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย
รมว.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้หลังจากได้รับข้อมูลดังกล่าวมาแล้ว ก็จะเร่งดำเนินการวางแนวทางปรับปรุงนโยบายในการพัฒนา การบริหารจัดการการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคของการจัดการเรียนการสอน
" เพื่อให้นักเรียน ครู รวมถึงผู้ปกครองได้คลายความกังวลและคลายความเครียดที่ต้องเผชิญกับสภาวะการณ์เช่นนี้ และพร้อมที่จะช่วยเหลือ ดูแล และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ดีที่สุด"รมว.ศธ. กล่าว