ข่าว

"ครูรัก(ษ์)ถิ่น" เปิดรับ คนมีใจรักเป็น “ครู” เรียบจบบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่

"ครูรัก(ษ์)ถิ่น" เปิดรับ คนมีใจรักเป็น “ครู” เรียบจบบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่

25 ก.ย. 2565

ปีการศึกษา2566 หน่วยงานรัฐ 6 แห่ง "ศธ.-อว.-สพฐ.-กสศ.-ก.ค.ศ.-คส." ผนึกกำลังมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีศักยภาพ เดินหน้าผลิตและพัฒนา “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” เฟ้นเด็กมีใจรักเป็นครูู เรียบจบบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ ตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่นทันที

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  เดินหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 4 ปีการศึกษา 2566 มุ่งมั่นที่จะสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนยากจนด้อยโอกาส ซึ่งมีศักยภาพและมีใจรักอยากเป็นครูให้ได้ศึกษาจนสำเร็จการศึกษา และได้รับการบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและเป็นชุมชนบ้านเกิด เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูและการโยกย้าย โดย กสศ.คาดหวังว่า นักศึกษาผู้รับทุนจะได้รับการบ่มเพาะจิตวิญญาณความเป็นครู และเป็นนักพัฒนาชุมชนที่มีศักยภาพสอดคล้องกับโจทย์การทำงานในท้องถิ่น

 

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 4ปี ดังกล่าว มีการจัดประชุมปฏิบัติการและลงนามความร่วมมือและพัฒนาแนวทางการทำงานร่วมกัน ระหว่าง กสศ. กับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยพิบูลสงคราม, มหาวิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึง, มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต, มหาวิทยาลัยไลยอลงกรณ์, มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา ฯ (อว.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (คส.)

ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุว่ามหาวิทยาลัยที่ร่วมลงนามความร่วมมือโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีศักยภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นด้วยการวิจัยและการบริการวิชาการอย่างสร้างสรรค์ ทั้งความเป็นผู้นำด้านวิชาการของภูมิภาค เรียกได้ว่าเป็นสถาบันต้นแบบในการพัฒนานวัตกรรมการผลิตและพัฒนาครูระบบปิด คือ การสร้างครูลักษณะเฉพาะลงในพื้นที่เฉพาะ

 

แต่ในกรณีนี้ คือ การผลิตครูเพื่อพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นทุรกันดาร การปลูกฝังDNAของนักพัฒนาชุมชนร่วมไปกับการพัฒนาทางวิชาการที่ทันสมัยแน่นอนว่า นวัตกรรมเหล่านี้จะเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้นแบบดังกล่าวต้องร่วมมือกัน โดยใช้ความเชี่ยวชาญของการเป็นสถาบันการอุดมศึกษา ความเป็นเลิศด้านวิชาการในการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบตามหลักวิชาการ เพื่อยืนยันผลผลิตและพัฒนาครูระบบปิด

 

ตั้งแต่กระบวนการค้นหาคัดกรองที่มีมาตรฐาน การนำเยาวชนในชุมชนที่มีศักยภาพและความมุ่งมั่นมาเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา 4 ปี ด้วยหลักสูตรที่แต่ละมหาวิทยาลัยออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองชุมชน และจะต้องบรรจุทำงานที่บ้านเกิดเป็นระยะเวลา 6 ปี

 

เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายของงานวิจัยระยะยาวเพื่อเป็นแนวทางใหม่ในการผลิตและพัฒนาครูทางเลือกที่มีศักยภาพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการผลิตและพัฒนาครูระบบปิดจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตัดวงจรการขาดแคลนครู และเพิ่มอัตราการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพบนฐานแนวคิดที่ว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

ขณะที่ รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ระบุว่า กสศ. มอบโอกาสให้นักเรียนมาแล้ว 3 รุ่น จำนวน 865 คน และสำหรับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 4 มีนักเรียนทุน 327 อัตรา จาก 324 โรงเรียนปลายทางใน 43 จังหวัด และปี 2566 รุ่นที่ 5 โครงการฯ จะรับนักเรียนทุนอีก 310 อัตรา เมื่อรวมกับรุ่น 1-4 แล้ว จะได้นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น 1,500 คน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

โดยสถาบันผลิตและพัฒนาครูที่่ร่วมเป็นเครือข่ายโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่จริง สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในการผลิตและพัฒนาครูตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้เห็นอย่างชัดเจน

 

"กระบวนการต้นน้ำ คือ สถาบันแต่ละแห่งมีนวัตกรรมการค้นหาคัดเลือกเพื่อให้ได้นักศึกษาตรงคุณสมบัติกลางน้ำ คือ หลักสูตรซึ่งสถาบันจัดเตรียมไว้เพื่อให้ตอบสนองตามหลักคิดและแนวทางของโครงการซึ่งลงรายละเอียดถึงเด็กเป็นรายคน และตามความแตกต่างของลักษณะพื้นที่แต่ละแห่ง ส่วนปลายน้ำ คือ ปลายทางที่นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นจะไปบรรจุ ที่สถาบันผลิตและพัฒนาครูได้ทำงานร่วมกับโรงเรียน เพื่อพัฒนาทั้งโรงเรียนและชุมชนท้องถิ่นไปพร้อมกัน ด้วยหลักสูตรเฉพาะทางหรือEnrichment Programที่จัดเตรียมความพร้อมของครูไว้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ชุมชนของตนเอง เมื่อครูกลุ่มนี้เรียนจบ เขาจึงพร้อมทำงานทันที พร้อมพัฒนาโรงเรียนและสร้างความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น

 

“เราเชื่อว่าครูคุณภาพสูงคนหนึ่ง จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มหาศาลให้กับพื้นที่ ดังนั้นเมื่อเรามีครูรุ่นใหม่ที่เข้าใจการจัดการศึกษาและพัฒนาชุมชนถึง 1,500 คน ย่อมหมายถึงโอกาสเข้าถึงการศึกษาคุณภาพของเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศในอนาคต”

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่

Youtube -https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

LineToday -https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง “คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565” ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote https://www.komchadluek.net/entertainment/524524