"พะเยา" เมืองแห่งการเรียนรู้ จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ระดับโลก
“การที่ทุกภาคีได้มาหารือ วางแผนร่วมกัน ออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เห็นเป้าชัดเจนในการวางแผนพัฒนาเมือง แก้ปัญหาคนว่างงาน ลดช่องว่างระหว่างวัย เสริมอาชีพ นำไปสู่การสร้างอาชีพ เกิดรายได้ โดยใช้ภูมิปัญญาของชุมชนที่มีอยู่”รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ กล่าว
จังหวัดพะเยา เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองน่าอยู่ของประเทศไทย ที่ผ่านมามีผู้คนแวะเวียนมาเที่ยวชมไม่ขาดสาย โดยเฉพาะหัวใจหลักของเมืองคือแหล่งน้ำขนาดใหญ่อย่าง “กว๊านพะเยา” ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ คือแม่เหล็กสำคัญในการดึงผู้คนเข้ามาเยือน
นอกจากกว๊านพะเยาที่เปรียบเสมือนชีวิตของผู้คนที่นี่แล้ว เมืองพะเยายังมีศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา องค์ความรู้มากมายที่ถูกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นและสร้างความภาคภูมิใจให้คนในเมืองนี้ จนกระทั่งมหาวิทยาลัยพะเยาได้ทำวิจัยเรื่อง “Learning City”จนนำไปสู่การสร้างกลไกบูรณาการความร่วมมือจนเกิดเป้าหมายร่วม ผลักดันเมืองไปสู่มาตรฐานโลก ยูเนสโก (UNESCO) หรือ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)
องค์ความรู้ที่ถูกวางแผนให้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ว่างงานจากผลกระทบของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 คืออีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในเมืองนี้ รวมไปถึงผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนออทิสติก ที่ยังขาดทักษะอาชีพจนเกิดการหนุนเสริมและเกิดการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนที่ขาดแคลน ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนนำไปสู่การพัฒนาเมืองแบบมีทิศทางที่ชัดขึ้น
รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี และอดีตรองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา หัวหน้าโครงการ Phayao Learning City ที่เป็นคีย์แมนสำคัญที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ บอกว่า การกระตุ้นและจัดกระบวนการเรียนรู้โดยเริ่มจากผู้เรียนคือปัจจัยสำคัญของการทำงานและการทำวิจัย ที่ผ่านมาผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มีคนว่างงาน ตกงานกลับมาบ้าน ประกอบกับสังคมผู้สูงอายุทำให้มีผู้สูงอายุในชุมชนว่างงานเป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ทำให้นักวิจัยมองว่าจะทำอย่างไรจะเสริมอาชีพ เพื่อให้คนว่างงานมีรายได้จึงได้หารือกับเทศบาลเมืองพะเยาและภาคีเครือข่ายเพื่อจัดการเรียนรู้ขึ้น ซึ่งเริ่มด้วยการนำเอาพนักงานของเทศบาลไปเรียนรู้การทำบ้านดินที่บ้านดินคำปู้จู้จนเกิดกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่การเหยียบดิน ปั้นดิน ร่วมกันทำชิ้นงาน ทุกขั้นตอนคนได้รู้จักกัน มีความเป็นมิตรแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จนนำไปสู่ความรู้ที่เกิดและขยายผลออกไปในชุมชนอื่น ๆ จนเกิดแหล่งเรียนรู้มากกว่า 20 แห่งทั้ง เรื่องของทักษะอาชีพ เรื่องของคนเชื่อมโยงไปถึงสิ่งแวดล้อมอย่างนกยูงที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองพะเยา
“การที่ทุกภาคีได้มาหารือ วางแผนร่วมกัน ออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เห็นเป้าชัดเจนในการวางแผนพัฒนาเมือง การแก้ปัญหาคนว่างงาน การลดช่องว่างระหว่างวัย การเสริมอาชีพให้ผู้ที่ขาดทักษะความรู้ จนนำไปสู่การสร้างอาชีพ เกิดรายได้ โดยใช้ภูมิปัญญาของชุมชนที่มีอยู่ ทั้งเรื่องดิน เรื่องงานเย็บผ้า การทำเกษตรอินทรีย์ ทำขนม ปลูกต้นไม้ รวมไปถึงการเชื่อมโยงเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างนกยูงที่ศูนย์การเรียนรู้นกยูงไทยรวมถึงมหาวิทยาลัยพะเยาก็เป็นแหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่ของชุมชนด้วย”รศ.รศ.ดร.ผณินทรา กล่าว
ผลกระทบจากโควิด -19 ส่งผลให้กับคนที่อยู่ในเมืองได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะเมืองที่เคยเศรษฐกิจดี มีการซื้อขาย มีนักท่องเที่ยวกับเงียบเหงา หลายคนกลับมาบ้านแต่ไม่มีอาชีพรองรับ แม้จะค้าขายก็ไม่มีทักษะความรู้ ไม่มีตลาด ทำให้เทศบาลเมืองพะเยาได้ร่วมกับทีมวิจัย Learning City ของมหาวิทยาลัยพะเยา ทำงานเชื่อมโยงและบูรณาการออกแบบการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาของเมือง
“ปัญหาจากโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเมืองพะเยามาก ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่เกิดการซื้อขาย หลายคนตกงาน โชคดีที่มหาวิทยาลัยพะเยาได้เข้ามานำเสนองานวิจัย Learning City ทำให้ได้ร่วมกันออกแบบ หาทุนทางวัฒนธรรม ความรู้ ข้อมูลของเมืองพะเยาและเอามาออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน ทางเทศบาลเองมีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุหรือ ศพอส. ทำให้สามารถใช้ศูนย์ฯเป็นแหล่งอบรมและส่งเสริมอาชีพผู้สนใจเรียนรู้ โดยมีทั้งการเย็บกระเป๋าผ้า การทำขนม และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยใช้ปราชญ์ชุมชนหรือ เรียกว่านวัตกร ชุมชนเป็นคนมาแนะนำและสอนผู้ที่สนใจ”นางสุมิตรา กัณฑมิตร นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา กล่าว
นอกจากนั้นยังมีแนวคิดที่จะต่อยอดการเรียนรู้ลงลึกระดับชุมชนเพื่อให้คนในชุมชน ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ด้อยโอกาส สามารถฝึกอาชีพเพื่อเสริมรายได้ในอนาคตนอีกด้วย
“พอเขาเรียนแล้วก็นำไปต่อยอดเกิดอาชีพ สร้างรายได้ โดยทางทีมวิจัยมหาวิทยาลัยพะเยาได้มาหนุนเสริมเรื่องการตลาด ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ทำให้คนมาเรียนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากที่ขายไม่ได้เลยก็พอมีรายได้จุนเจือครอบครัว รวมไปถึงผู้พิการ และกลุ่มออทิสติก โดยอนาคตตั้งใจจะขยายการเรียนรู้ไปจนถึงระดับชุมชนเพื่อให้คนในชุมชนได้เข้าถึงและมีอาชีพมีรายได้เพิ่มขึ้น”นางสุมิตรา กล่าว
ในส่วนภาพใหญ่ของจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีนายอัครา พรหมเผ่า นั่งเก้าอี้นายกอบจ.บริหารจังหวัด ได้เล็งเห็นความสำคัญและพร้อมนำโมเดลการเรียนรู้นี้ขยายไปสู่ทั้ง 9 อำเภอของจังหวัด โดยเฉพาะศูนย์สามวัยที่อบจ.มีอยู่แล้วเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนในอนาคต
“เมืองพะเยามีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วมสมัยกับอาณาจักรสุโขทัย มีจารึกหินทรายอักษรฝักขามสมัยล้านนามากที่สุด ศิลปกรรมหินทรายมีเอกลักษณ์อัตลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวจนนักวิชาการเรียกว่า “ศิลปะสกุลช่างพะเยา” เป็นเมืองที่มีปราชญ์ด้านการศึกษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงสืบต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยพะเยาซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่ที่มุ่งหมายร่วมพัฒนาเมืองพะเยาตามปรัชญา “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” ทั้งยังมีภาคีเครือข่ายทำงานที่มีความเข้มแข็งทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ตลอดจนมีเป้าหมายที่มุ่งส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ พัฒนาเมืองให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และมีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันที่จะนำเมืองพะเยาไปสู่ความยั่งยืน”นายอัครา กล่าว
การเรียนรู้คือปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จในชีวิต ความรู้ไม่ได้อยู่เฉพาะในห้องเรียน แต่อยู่ทุกหนทุกแห่ง เพียงแต่มีผู้สนใจเรียน และมีผู้พร้อมจะสอน การเรียนรู้ก็เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้เพื่อปรับใช้ในชีวิตทำให้ชีวิตดีขึ้น น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดของการเรียนรู้ในยุคสมัยนี้ และที่จังหวัดพะเยาแห่งนี้ก็ทำได้สำเร็จแล้ว
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/