เร่งฟื้นฟู "เด็ก" เติบโตช่วงโควิด-19 ก่อนจะสาย
"เด็กที่เติบโตในช่วงโควิด-19 จะเป็นเหมือนหลุม เทียบกับรุ่นพี่-รุ่นน้องไม่ได้ หากไม่เร่งแก้ปัญหา ภาพรวมการพัฒนาประเทศจะถดถอยตาม หากไม่ทำอะไรการเรียนรู้ถดถอยไปเรื่อย ๆ การแก้ปัญหาจึงต้องทำแบบวิ่งมาราธอน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต" รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง กล่าว
เจ้าวายร้ายไวรัสโควิด-19 ได้ทิ้งบาดแผลให้ “เด็ก” ที่เติบโตมาในช่วงการแพร่ระบาดอย่างหนักมากว่า 2 ปี จากการสำรวจของสารพัดสำนักที่ทำการศึกษาวิจัยการศึกษาของเด็กในกลุ่มนี้ ส่วนมากอยู่ในวัยเด็กเล็ก หรือ เด็กอนุบาล เด็กปฐมวัย รวมทั้ง เด็กชั้นประถมต้น
พบว่า “เด็ก” กลุ่มนี้พัฒนาล่าช้าทั้งด้านภาษาและกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง เด็กมากกว่าร้อยละ50 จับดินสอผิดวิธี อีกทั้งพบว่ามีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน เด็กบางคนขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง จนถึงขั้นไม่กล้าไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน
"เด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 0-5ปี ต้องมีพัฒนาการที่สมวัยอยู่ในระดับร้อยละ 85 แต่ผลสำรวจพบว่าเด็กไทย1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 มีพัฒนาการไม่สมวัย มีนิ้วที่แข็งแรงเหลืออยู่เพียงนิ้วเดียว คือนิ้วชี้ที่เด็กใช้ในการเลื่อนหน้าจอสมาร์ทโฟน”นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุ
ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ โค้ชโครงงานฐานวิจัย (ป.4-ม.3) โครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่(มอ.วิทยาเขตหาดใหญ่) ระบุว่า แรงบีบมือของเด็กที่อยู่เกณฑ์ปกติ จะอยู่ที่ 19 กิโลกรัม แต่หลังลงสังเกตพฤติกรรมในห้องเรียน 6 จังหวัดภาคใต้ โดยใช้เครื่องวัดแรงบีบมือทดสอบวัดสมรรถภาพความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน จาก 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด คือ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส พบ 98% ของเด็กๆ แรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กวัยเดียวกัน ซึ่งค่าปกติจะอยู่ที่ 19 กิโลกรัม หากไม่เร่งพัฒนาอาจจะสูญเสียโอกาสการพัฒนาได้อย่างเต็มที่ หากปล่อยไป จะยิ่งเกิดปัญหาซับซ้อนในช่วงวัยนี้มากขึ้น โดยมีความหวังให้โรงเรียนนำร่อง ขยายผลไปสู่เพื่อนครูด้วยกัน เพื่อชวยกันแก้ปัญหาเด็กพัฒนาถดถอยอย่างต่อเนื่อง
จากการทดสอบมีเด็กผ่านเกณฑ์เพียงร้อยละ 1.19 จึงได้ริเริ่มโครงการ PSU ครูรักศิษย์ ครั้งที่ 7 ‘การพัฒนาฐานกาย’ หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการคือ โรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ดูแลโครงการโดย ครูนก จรรยารักษ์ สมัตถะ หลังการฟื้นฟูต่อเนื่อง พบค่าแรงบีบมือเด็กมากขึ้น 0.5-2 กิโลกรัมในเวลาเพียงเดือนเดียวเท่านั้น
ขณะที่ ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ โค้ชกระบวนการวิทยาศาสตร์ (อนุบาล - ป.3) โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง มอ.วิทยาเขตหาดใหญ่ สะท้อนว่า เด็กมีความทุกข์ในห้องเรียนจากกล้ามเนื้อมัดเล็กอ่อนแรง ทำให้ไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ ส่งผลให้เกิดภาวะไม่เชื่อมั่นในตนเอง สุดท้ายทำให้เด็กขาดเรียนมากกว่าครึ่งห้อง
“เด็กชั้น ป.1-3 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องประคับคอง ฐานกายยังเรียกร้อง ทำให้เด็กอยู่ไม่สุข ไม่รู้จะเอาพลังงานออกมายังไง เมื่อซนก็ครูทำโทษ เทอมที่ผ่านมาเด็กพยายามส่งสัญญาณบอกผู้ใหญ่ แต่ไม่มีใครฟัง เปิดเทอมนี้ เสนอให้ครูใช้กระบวนการเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ แบบ active learning สร้างสถานการณ์ ให้สอดคล้อง สาระการเรียนรู้และตัวชีวัด ทำให้เด็กได้ฝึกสังเกต ฝึกกระบวนการคิด คิดวิธีเล่น รวมรวบข้อมูล ออกแบบกติกา ทดลองใช้ร่างกาย หลังทำกิจกรรม 2 สัปดาห์พบว่า เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น”
รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ โค้ชโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) เครือข่ายมอ.วิทยาเขตหาดใหญ่ เสนอแนวทางการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และโครงการฐานวิจัย เพราะวิทยาศาสตร์ คือ ตัวขับเคลื่อนการเรียนรู้ ขณะเดียวกันจะทำสำเร็จได้ จำเป็นต้องมีมหาวิทยาลัย และโรงเรียน หน่วยงานด้านการศึกษาที่กำกับดูแล ร่วมมือกัน และการใช้ทุนทางสังคมและการบริหารจัดการที่ใช้ข้อมูลความรู้อย่างแท้จริง การใช้โมเดลพัฒนากล้ามเนื้อมือ ทั้งประเทศใน 6 เดือน สู่การพัฒนาคุณภาพนักเรียน จึงเป็นการนำร่องที่สำคัญ
“คาดว่าภายใน 6 เดือนจะสามารถช่วยทำให้เด็กพัฒนากล้ามเนื้อได้เพิ่มขึ้น 0.5 - 1.5 กิโลกรัม ภายใน 1 เดือน และมีค่าแรงบีบมือตามเกณฑ์มาตรฐาน เป็นปกติ คือ 19 กิโลกรัม ภายใน 6 เดือน หากนำร่องได้สำเร็จ นี่จะเป็นส่วนหนึ่งของบทพิสูจน์ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการศึกษา และมีความหวังกับการแข่งขันในนานาประเทศ แต่หากไม่เร่งแก้เราอาจสูญเสียเด็กเล็กไปทั้งรุ่น”
ขณะที่ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ในปี 2565 พบว่าสถานการณ์รุนแรง มีเด็กหางแถวและเกิดความเหลื่อมล้ำมากที่สุด พร้อมชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟังน้อยลง เนื่องจากขาดสื่อการเรียนรู้ ทำให้ทักษะภาษาและคณิตศาสตร์ของเด็กขาดหายไปกว่าร้อยละ 90
หลังสถานการณ์โควิด - 19 พบว่า เด็กทำการบ้านและอ่านหนังสือน้อยลง แต่ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น จึงเสนอทางออกระยะสั้นให้มีการเปิดเรียนภาคฤดูร้อน ชดเชยเวลาที่ขาดหายไป และจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความพร้อมของเด็ก ส่วนทางออกระยะยาว ต้องพัฒนาทักษะการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง และยกระดับการศึกษาปฐมวัยด้วยจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning
"จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเด็กที่เติบโตในช่วงโควิด-19 เพราะเด็กรุ่นนี้จะเป็นเหมือนหลุม ที่ไม่สามารถเทียบกับรุ่นพี่ กับรุ่นน้องได้ หากไม่เร่งแก้ปัญหา ภาพรวมการพัฒนาประเทศก็จะถดถอยตาม เด็กทุกคนเรียนเพื่อเติบโตเป็นอนาคตของชาติ หากเราไม่ได้ทำอะไร เด็กจะมีภาวะการเรียนรู้ถดถอยไปเรื่อย ๆ เมื่อไปอยู่ในตลาดแรงงานก็จะกระทบต่อความสามารถในการพัฒนาประเทศ การแก้ปัญหาจึงต้องทำแบบ “วิ่งมาราธอน” หรือแก้ปัญหาระยะยาว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต"
รศ.ดร.วีระชาติ ย้ำว่าปัจจุบันเด็กที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มเด็กที่ไม่มีทรัพยากร ไม่ได้รับการเรียนพิเศษ ฉะนั้นข้อเสนอการเปิดเรียนภาคฤดูร้อน จึงจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้เข้าถึงของการศึกษา เพราะหากเด็กมีภาวะการเรียนรู้ถดถอยไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษา
ได้แต่วาดหวังว่า ทุกภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการจัดการศึกษาของชาติ ให้กับ “เด็กไทย” จะตื่นจากการทำงานแบบรูทีน กลับมาให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่เร่งฟื้นฟู “เด็ก” เติบโตช่วงโควิด-19 ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป
ขอบคุณที่มาข้อมูล....จากเสวนาวิชาการ “ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้หลังโควิด - 19 แนวทางฟื้นฟูรับเปิดเทอมใหม่”จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/