9 องค์กร ดึง "5 มหาวิทยาลัย" หนุน อปท.พัฒนา เมืองอัจฉริยะน่าอยู่
9 องค์กร ดึง "5 มหาวิทยาลัย" ร่วมมือ ภาครัฐ-เอกชน ลงนามความร่วมมือพัฒนา เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ และแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง หวังนำเทคโนโลยีสร้างฐานข้อมูลเมืองเข้าพัฒนาพื้นที่
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2565 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น ได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมโครงการหรือกิจกรรมด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่และแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง (City Digital Data Platform : CDDP ) ระหว่างบริษัท เอไอแอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARVกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ “5 มหาวิทยาลัย” ประกอบด้วย วิทยาลัยศิลปะสื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาลัยคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยการผลักดันโดย ฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)
รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ต้องการดึงภาควิชาการ จาก “5 มหาวิทยาลัย” ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาในแต่ละพื้นที่มาประกอบ โดยมีมหาวิทยาลัยที่อยู่แต่ละภาคตั้งแต่ภาคใต้คือสงขลานครินทร์ ภาคเหนือคือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคตะวันออกคือมหาวิทยาลัยบูรพาและภาคอีสานคือมหาวิทยาลัยขอนแก่น การประกบกันระหว่างชุดองค์ความรู้ เทคโนโลยี ของมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคจะทำให้เกิดการขับเคลื่อน นวัตกรรมในระดับท้องถิ่นเพื่อยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยข้อมูลความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ
นอกจากนี้ไม่มีเฉพาะมหาวิทยาลัย “5 มหาวิทยาลัย” ระดับภูมิภาคเท่านั้นแต่ยังมีหน่วยงานระดับประเทศไม่ว่าจะเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ Depa ซึ่งเป็นหน่วยที่ขับเคลื่อนในเชิงของนโยบายเรื่องของเทคโนโลยีประกบกับ ภาคเอกชนที่เป็นรัฐวิสาหกิจคือบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ จำกัด หรือ ARV เข้ามาร่วมดำเนินการ เพื่อยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยชุดข้อมูลความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ
“ เป้าหมายที่เราวางไว้ชัดเจนก็คือว่าอยากจะให้ทุกเมืองเป็นเมืองอัจฉริยะน่า อยู่หมายถึงเมืองแห่งโอกาส เป็นเมืองแห่งศูนย์กลางการกระจายความเจริญ เป็นเมืองที่สร้างงาน มีชีวิตชีวา เป็นเมืองชาญฉลาด ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงและเป็นเมืองที่ใช้ศักยภาพ ใช้ทุนที่มีอยู่ทั้งทุนชุมชน ทุนสิ่งแวดล้อม ทุนทางสังคมวัฒนธรรมมาเป็นฐาน ในการพัฒนาต่อยอด”รศ.ดร.ศุภวัฒนากร กล่าว
ด้านนายวีรวัฒน์ รัตนวราหะ ผู้บริหารจากบริษัท เอไอแอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV กล่าวว่าทางบริษัททพร้อมในการนำเอา เทคโนโลยีข้อมูลหรือปัญญาประดิษฐ์มาช่วยให้การทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ไม่ว่าจะเป็นอบต. เทศบาลหรืออบจ. ที่เอาไปใช้เกิดประโยชน์สูงสุด บริษัทเองพยายามจะลงทุนในแง่ของการสร้างระบบต่าง ๆ โดยที่ทางอปท.เองไม่ต้องเงินจ่าย เพราะหากอปท.มาลงทุนเองจะต้องใช้เม็ดเงินที่สูงมาก
“ตอนนี้ทุกอปท.ต้องการให้มีข้อมูลด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นดิจิทัล เพื่อนำไปวางแผนพัฒนาชุมชนตัวเอง และสำคัญที่สุดคืออยากได้เรื่องของจัดเก็บภาษีเพื่อนำเอาไปสร้างรายได้ให้กับหน่วยงาน เพราะหากมีเงิน มีงบประมาณก็จะได้นำไปพัฒนาเมืองได้ และในภาพที่เห็นชัดที่สุดคือบริษัท ARV ได้ร่วมมือกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บพท. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำ City Data Academe ซึ่งจะเปิดตัวในวันที่ 9 พ.ย.2565 นี้ ตรงนี้จะเป็นการเอาคนในเทศบาลมาเรียนรู้การใช้เครื่องมือดิจิทัลที่จะนำไปใช้พัฒนาเมืองในอนาคต”นายวีรวัฒน์ กล่าว
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/