DPU จับมือ WORKPOINT ปั้นเด็กนิเทศฯสู่สุดยอด Content Creator
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) และ WORKPOINT จับมือกัน “เล่นใหญ่” ในโครงการ เล่นใหญ่ Beyond Content Creator สร้างกระบวนการบ่มเพาะทักษะรอบด้าน ปั้นเด็กนิเทศสู่สุดยอดคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่ ผลิตนักศึกษาแห่งอนาคตที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน
ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญในพิธีลงนามความร่วมมือ ระหว่างคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กับ บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด (ในเครือเวิร์คพอยท์กรุ๊ป) เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 ณ สตูดิโอ 1 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
หนึ่งในโมเดลความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา และองค์กรวิชาชีพ ที่มองเป้าหมายเดียวกันถึงการสร้างสรรค์ “คนและผลงาน” ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง
ผศ.ดร.ทัณฑกานต์ ดวงรัตน์ รองอธิการบดีสายงานเครือข่ายสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า เด็กยุคใหม่มีความเป็นตัวตนสูงมาก ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเกิดขึ้นตลอดเวลา นำมาสู่การปรับตัวในหลายด้าน
ซึ่งการพัฒนาความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับเวิร์คพอยท์ในครั้งนี้จะทำให้เด็กเรียนรู้การทำงานแบบมืออาชีพ โดยปัจจุบันนักศึกษาหลายคน อยากจะเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และเป็นเจ้าของสื่อของตัวเอง
การจับมือระหว่างภาควิชาการและวิชาชีพ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของนักศึกษาในการเรียนรู้ทักษะ และประสบการณ์ เพื่อมุ่งสู่เส้นทางสายนี้เมื่อจบการศึกษา
ด้าน ผศ.ศิวนารถ หงษ์ประยูร คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า ด้วยเทรนด์ของคอนเทนต์ที่เปลี่ยนแปลงไป จำนวนผู้ผลิตคอนเทนต์ก็มีเพิ่มมากขึ้น และแน่นอนว่าย่อมนำมาซึ่งการแข่งขันในโลกของธุรกิจที่รุนแรง
ทางคณะฯ มีการปรับหลักสูตรใหม่ นักศึกษาจะได้คิดสร้างสรรค์ดิจิทัล
คอนเทนต์มากขึ้น พร้อมกับนำความรู้ด้านบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์ มีการศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและพฤติกรรมคนดูมากขึ้น เพื่อให้การสร้างสรรค์งานตรงกลุ่มกับเป้าหมาย
“ความร่วมมือนี้จะเกิดประโยชน์กับนักศึกษาเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เรียนอย่างเดียว แต่ทำงานกับมืออาชีพ เพื่อให้การทำคอนเทนต์สามารถตอบโจทย์ผู้ชมในทุกแพลตฟอร์ม ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ให้มีครบทั้งความรู้ในห้องเรียนและทักษะในโลกการทำงาน” ผศ.ศิวนารถ กล่าว
ดร.วิชนี ศรีสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการสายงานการตลาด บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ความร่วมมือในโครงการนี้เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษานำเสนอความคิดสร้างสรรค์ ในการผลิตรายการใหม่ พร้อมโอกาสแสดงผลงานในช่องบางพูนแคมปัส ซึ่งเป็นช่องยูทูบที่ได้รับความนิยมอย่างมากทางออนไลน์ อาทิ รับก่อน นาวยูซีมี่ ฯลฯ
“ยินดีเป็นอย่างมากที่จะได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์อย่างเต็มความสามารถของเรา ตั้งแต่แนวคิด ทัศนคติ วิธีการ เทรนด์ใหม่ ๆ ในวงการสื่อปัจจุบัน พร้อมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ ที่ต้องการจะเดินในเส้นทางนี้ให้ได้รับความรู้ ทักษะ และประสบการณ์การทำงานอย่างถูกต้อง และรวดเร็วขึ้น เพื่อนำสิ่งที่ได้จากห้องเรียนสู่การปฏิบัติจนออกมาเป็นผลงานที่มีคุณภาพ สามารถต่อยอดและใช้งานจริงได้” ดร.วิชนี ศรีสวัสดิ์ กล่าว
นอกจากพิธีลงนามความร่วมมือแล้ว ยังมีเสวนาในหัวข้อ “คิด-อย่าง-Work ให้ตรง Point” ที่ได้วิทยากรจากทั้ง มธบ.และเวิร์คพอยท์ตัวจริงเสียงจริงของวงการ มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ตรงให้คนที่สนใจทำงานสายคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้ฟังกัน
โดยวิทยากร อาจารย์สุดถนอม รอดสว่าง หัวหน้าหลักสูตรการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คุณสหพร ยี่ตันสี Group Head ฝ่ายผลิต จากเวิร์คพอยท์ และคุณกนกกร เล็บครุฑ โปรดิวเซอร์ จากเวิร์คพอยท์ สรุปความน่าสนใจได้ดังนี้
- หลักการ “คิด” แยกเป็นสองส่วนที่จะบอกว่าคอนเทนต์นั้นประสบความสำเร็จและทำได้จริง โดยส่วนแรก “ค” การคิดที่ครบ “ลูกค้าชอบ-ตัวเราชอบ-คนดูชอบ” ส่วนที่สอง “ด” มาจาก ได้ ที่เกิดจากการคิด และนำความคิดนั้นไปใช้งานได้จริง
- การคิดต้องสอดคล้องกับบริบทการใช้ชีวิตของคนปัจจุบัน ทุกวันนี้สื่อเคลื่อนไหวตลอด เช่น คน รถไฟฟ้า ก็เป็นสื่อได้ ดังนั้นคอนเทนต์ที่คิด ต้องเคลื่อนไหว เร็ว และให้ทางเลือก
- เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค และกลุ่มคนดู
- คอนเทนต์นั้นต้องแตกต่าง และให้คุณค่ากับคนดู
- คอนเทนต์ที่คิดต้องมาจากความรู้ การศึกษา มองให้ขาด และเข้าถึงกลุ่มคนที่ต้องการจะสื่อสาร
- การคิดคอนเทนต์ เปรียบเหมือนกับการลับมีด การฝึกคิดบ่อย ๆ จะทำให้ได้ความคิดที่คม มีเอกลักษณ์ ด้วยข้อมูลที่ลึก และแตกต่าง
- เรียนรู้การเล่าเรื่องข้ามสื่อ (แพลตฟอร์ม) จะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ดี
สำหรับโครงการ “เล่นใหญ่ Beyond Content Creators” นักศึกษาจะได้เรียนรู้การทำงานกับลูกค้าจริง ตลาดจริง และโจทย์จริง เป็นทั้งการอบรม (Workshop) ศึกษาดูงาน และ การผลิตคอนเทนต์ สร้างสรรค์ผลงานจริง
โดยเริ่มการสอนและจัดอบรมระหว่างวันที่ 16 มกราคม - 14 พฤษภาคม 2566 โดยเมื่อจบโครงการผลงานที่ผลิตจะถูกนำไปเผยแพร่ทางช่องยูทูบบางพูนแคมปัส