ติง "ร่างพร.บ.การศึกษา" ล็อกสเปคสมองคนไทยเกินไป
ดร.อ้อ ณหทัย ติง"ร่างพร.บ.การศึกษา"ไม่มองอนาคตเด็ก แต่ละคนมีพัฒนาการเรียนรู้แตกต่างกัน ห่วงเป็นการ ล็อกสเปคสมองคนไทยมากเกินไป
ระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม 2566 ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว เข้าสู่วาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านมีข้อห่วงใยใน “ร่างพ.ร.บ.การศึกษา” เห็นว่ายังมีบางประเด็นที่อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ จึงอยากให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ “คมชัดลึกออนไลน์” ว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 เขียนไว้ดีแล้ว มีความยีดหยุ่นตามมาตรฐานสากลผู้ปฏิบัตินำมาใช้ได้จริง แต่ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำลังพิจารณากันมาเกือบจะ 5 ปีนี้ มีจุดที่น่ากังวล และห่วงใยเป็นอย่างมาก
"ดิฉันห่วงกังวลกับมาตรา 8 ว่าด้วยเรื่องการศึกษาตั้งแต่ช่วงวัยที่ 1ถึงช่วงวัยที่ 6 รวมทั้งสิ้น 18 ปี ที่ไปกำหนดช่วงวัยการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทย ลงในรายละเอียดพัฒนาสมองแต่ละช่วงวัยจะเป็นอย่างไร มีการบังคับถ้าไม่ทำตามจะมีความผิดหรือไม่ เหมือนล็อกสเปคสมองคนไทยเกินไป"
ดร.ณหทัย ระบุอีกว่า การเรียนรู้แต่ละช่วงวัยของเด็กแต่ละคนมีความหลากหลายและแตกต่างกันมาก ความจริงพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ดีอยู่แล้วและเป็นสากล มีการจัดระดับการศึกษาแยกเป็น ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา แต่ร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่มาเปลี่ยนนิยามใหม่ ลงรายละเอียดยิบย่อยมากเกินไป
"การเรียนรู้ของเด็กควรมีความยึดหยุ่น การกำหนดรายละเอียดเช่นนี้ควรบรรจุเอาไว้ในหลักสูตรจะดีกว่าไม เช่น เด็กวัย 0-5 ขวบ,6-9ขวบ,9-12ปี ควรมีพัฒนาการที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร เด็กมีความพร้อมหรือยัง การพัฒนาการศึกษากับพัฒนาคน ควรยึดหยุ่นเด็กไม่พร้อมต้องดูแลเป็นพิเศษ"
การจัดการศึกษาควรมองไปอนาคต อย่าลืมการเรียนรู้ของเด็กต้องปรับให้ทันสมัย ทันสถานการณ์ รายละเอียดยิบย่อยอาจจะออกเป็นกฏกระทรวง จะเร็วกว่าและทันกับสถานการณ์ของโลกการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปมาก หลังสถานการณ์โควิด-19 ตามมาตรา 8 ควรเขียนเอาไว้กว้างๆไม่ใช่เป็นการบังคับหรือกำหนดตายตัว เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กบางคนเรียนรู้ได้เร็ว เด็กบางคนเรียนรู้ได้ช้า เด็กบางคนมีข้อจำกัดในด้านอื่นๆ
"ดิฉันฝากเอาไว้ การออกกฏหมายที่เป็นการบังคับพัฒนาการของสมองและการเรียนรู้อาจเป็นการจำกัดศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ไม่ควรบังคับการพัฒนาของคนด้วยกฎหมาย และมาตรา 71 ที่ว่าด้วยเรื่องการจัดการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวะ ควรให้ความสำคัญอย่างมากเพราะในโลกความจริงปัจจุบัน สาย อาชีวะคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เรียนไปทำงานไป และเป็นการเรียนเพื่ออาชีพ"ดร.ณหทัย ฝากทิ้งท้าย