ข่าว

"มหาวิทยาลัย" ปั่น ranking หนึ่งในกระบวนการขูดรีด "อาจารย์-นศ."

"มหาวิทยาลัย" ปั่น ranking หนึ่งในกระบวนการขูดรีด "อาจารย์-นศ."

12 ม.ค. 2566

วิกฤติอุดมศึกษาไทย ผลิตงานวิจัยอย่างฉาบฉวยกลายเป็นงานหลัก การพัฒนาคุณภาพบัณฑิตเป็นงานรอง "มหาวิทยาลัย" แห่ปั่น ranking หนึ่งในกระบวนการขูดรีด "อาจารย์-นศ."

งามไส้จริงๆ “มหาวิทยาลัย” ระดับท็อปของประเทศไทยไม่“ละอายใจ” แอบอ้างงานวิจัยคนอื่นเป็นของตัวเอง เพียงแค่มีเงินจ่ายก็เป็นเจ้าของงานวิจัยได้อย่างง่ายๆ โนสน โนแคร์ ต่อกระแสสังคม

 

ปี2566 “มหาวิทยาลัย” มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จะเป็นที่พึ่งสังคมได้อย่างไร เมื่อ “คลังสมอง” ระดับปัญญาของประเทศยังทำเรื่องน่าอับอาย สร้างความเสื่อมเสียกับ “แวดวงการศึกษาไทย” ชนิดที่เรียกได้ว่า “อัปยศอดสู” สิ้นดี

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ผลงานวิจัย” เป็นดัชนีชี้วัดสำคัญให้ “มหาวิทยาลัย” ปั่น ranking หวังติดอันดับทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ เพื่อเพิ่มมูลค่ามหาวิทยาลัย และนำไปสู่การรีดค่าเทอมนักศึกษาที่หลงศรัทธาใน ranking หลอกๆ

 

จึงเรียกได้ว่าการปั่น ranking เป็นหนึ่งในกระบวนการขูดรีดแรงงานจากอาจารย์และนักศึกษา และทำให้การผลิตงานวิจัยอย่างฉาบฉวยกลายเป็นงานหลัก แทนที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อส่งต่อคุณภาพบัณฑิตก่อนออกสู่โลกการทำงานในสังคม

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้  ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ระบุว่า ตาม พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 มาตรา 70 ห้ามมิให้ผู้ใด จ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเพื่อใช้ในการทำผลงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น

 

การจ้าง วาน หรือใช้ผลงานวิจัยของผู้อื่น ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้ผู้ใดรับจ้างหรือรับดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือโดยสุจริตตามสมควรโดยหากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(รมว.อว.)มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลโดยตรง ทั้งในฐานะเจ้ากระทรวงอว. รวมถึงผู้บริหารที่อยู่ในคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ) และคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.)จะต้องกำกับดูแล “มหาวิทยาลัย” ทั้งของรัฐ-เอกชน อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

 

อย่าปล่อยให้ “มหาวิทยาลัย” ปั่น ranking หนึ่งในกระบวนการขูดรีด “อาจารย์-นศ.” และนิ่งดูดายทำให้การผลิตงานวิจัยอย่างฉาบฉวยกลายเป็นงานหลัก แทนที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษา นี่คือสภาพวิกฤตของสถาบันอุดมศึกษาไทยที่กำลังเกิดขึ้นอย่างแสนสาหัส ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อการพัฒนาประเทศ