เมื่อ สภามหาวิทยาลัย "ผลัดกันเกาหลัง" สืบทอดอำนาจใคร?
กรรมการสภาสายผู้ทรงคุณวุฒิ สลับกันเข้าๆออกๆ เมื่อ สภามหาวิทยาลัย "ผลัดกันเกาหลัง" สืบทอด-รักษาอำนาจ สมประโยชน์ร่วมกัน ประชาชนได้ประโยชน์อะไรบ้าง?
ไม่นานมานี้ การสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งมสธ.ได้เสร็จสิ้นลงโดยการที่นายกสภาและกรรมการสภาชุดเดิมได้รับรองกันเองให้ดำรงตำแหน่งเดิมทั้งหมดต่ออีกสมัยหนึ่ง ทว่ามีผู้ไปร้องเรียนต่อกระทรวงอว.ว่าน่าจะขัดกับแนวปฏิบัติหลักธรรมาภิบาล เสมือน“ผลัดกันเกาหลัง”ไม่สมควรนำความกราบบังคมทูลโปรดเกล้า แต่งตั้ง มาดูรายละเอียดกระบวนการเกาหลังกัน ดังนี้
1.คณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย มีความไม่เป็นกลาง ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เคยร่วมทำงานเกื้อกูลกันมาแทบทั้งสิ้นมีลักษณะของการใช้ดุลพินิจคณะกรรมการสรรหาที่หนีไม่พ้นเรื่อง การมี ส่วนได้ ส่วนเสีย อันทำให้กระบวนการสรรหาดูไม่เป็นธรรม ไม่สง่างาม โน้มเอี่ยงเพื่อรักษาอำนาจใคร?
1.1 รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง ประธานคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และร่วมทำงานเป็นคณะกรรมการต่างๆอาทิ คณะกรรมการปฏิรูปมสธ คณะกรรมการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาของมสธ. และคณะกรรมการติดตามแผนการปฏิรูปมสธ.
1.2 ดร. ศิริ การเจริญดี กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นประธานคณะกรรมการการเงินและทรัพย์สินมสธ. กรรมการปฏิรูปมสธคณะกรรมการจัดสร้างอุทยานการศึกษามสธ.และกรรมการต่างๆอีกหลายคณะกรรมการปรับแต่งแปลงโฉมมหาวิทยาลัย
1.3 นายนนทพล นิ่มสมบูรณ์ กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นคณะกรรมการการเงินและทรัพย์สินของมสธ.และคณะกรรมการพิจารณาหลักธรรมาภิบาลของมสธ.
1.4 นายขจร จิตสุขุมมงคล เป็นกรรมการในคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมของมสธ.
1.5 ศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูล อุปนายกสมาคมสุโขทัยธรรมาธิราช อันเป็นสมาคมที่นายกสภามสธ. เป็นนายกสมาคมอยู่ในคราวเดียวกัน
กรรมการสรรหานายกมสธ.ทั้ง 5 คนใน 7 คน ก็แล้วแต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนม ที่มิอาจปฏิเสธได้กรรมการ ที่ผ่านมาในคณะกรรมการต่างๆข้างต้น ทุกคนล้วนแล้วถูกแต่งตั้งลงนามโดยนายกสภา คนเดียวกันนี้ ผลของการสรรหาคู่สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยจึงเป็นอื่นไปไม่ได้
2.ในส่วนของการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือประธานสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ชื่อนายนิรันดร์ จงวุฒิเวศย์ก็เป็นกรรมการในชุดต่างๆที่นายกสภาคนเดียวกันลงนามแต่งตั้ง
ไฮไลท์อยู่ที่รอบสุดท้ายของกระบวนการสรรหาที่ต้องให้สภามหาวิทยาลัยรับรอง ผลก็คือได้คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิชุดเดิมเป็นต่อทั้งหมด รับรองนายกสภา แล้วก็มารับรองกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ โดยผลัดกันเข้าๆออกๆเพื่อให้เห็นว่าตนเองไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียเสมือน“ผลัดกันเกาหลัง”
น่าสนใจกว่านั้น “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ควรจะเข้าใจคำว่า “ธรรมาภิบาล” และต้องตระหนักยึดถืออย่างเคร่งครัดแต่กลับมีพฤติกรรมให้โลกตำหนิติเตียน ไม่รู้ว่าจะเรียกว่า “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ได้อย่างไรและไม่ควรเข้ามาเป็นต้นแบบใดๆเลยในสถาบันอุดมศึกษาทุกสถาบัน