ครูทั้งแผ่นดิน ลุกฮือแต่งชุดดำไว้อาลัย"ร่างพ.ร.บ.การศึกษา" รับ "วันครู"
ประธาน ส.ค.ท. วอน นายกฯ หยุด"ร่างพ.ร.บ.การศึกษา" ฉบับคสช. ชี้ไม่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียน-การศึกษา-วิชาชีพ ย้ำ ของขวัญวันครู ชิ้นนี้ ครูทั้งแผ่นดิน ไม่ต้องการ
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว เข้าสู่วาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม 2566 จากทั้งหมด 110 มาตรา ได้รับการพิจารณาถึงมาตรา 8 จากนั้นสภาล่มต้องปิดการประชุม ทำให้ “ร่างพ.ร.บ.การศึกษา” ยังพิจารณาไม่เสร็จ ท่ามกลางกระแสผู้นำรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วาดหวังเอาไว้ว่า จะให้เสร็จเรียบร้อยเพื่อเป็น “ของขวัญวันครู” ในวันจันทร์ที่ 16 มกราคม นี้
ล่าสุดมีข้อกังวลจาก "ครู" ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน“ร่างพ.ร.บ.การศึกษา” ด้วยการแต่งชุดดำไว้อาลัยตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม-16 มกราคม นี้ เนื่องจากในร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ มีความไม่ชอบมาพากลในหลายมาตรา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายธีระศักดิ์ สุวรรณปัญญา ประธานยุทธศาสตร์สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย(ส.ค.ท.) ให้สัมภาษณ์ “คมชัดลึกออนไลน์” ว่า ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียน การพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพ อีกทั้งบางประเด็นอาจส่งผลกระทบความเป็นอิสระทางวิชาการ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ปิดกั้น กดทับศักยภาพของผู้เรียน ในการพัฒนาตนเองสู่อนาคตในศตวรรษที่21
ขอความเมตตาจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่าเร่งรีบรวบรัดให้ “ร่างพ.ร.บ.การศึกษา” มีผลบังคับใช้เลย หากเร่งรีบไปอาจจะเกิดความเสียหาย เนื่องจากเป็นร่างกฏหมายที่มีการรับฟังเสียงครูแต่ไม่นำมาบรรจุเอาไว้ในร่างพ.ร.บ.การศึกษา ซึ่งมีประเด็นที่น่ากังวลอยู่ 4 มาตรา ดังนี้
1.มาตรา3 ว่าการยกเลิกคำสั่งคสช.ที่เกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งคณะกรรมาธิการเสียงส่วนมากให้แก้ไข แต่ในที่สุดกลับลงมติกลับเป็นร่างรัฐบาล ทำให้มรดกคำสั่งคสช.ทำลายหลักธรรมาภิบาล เช่น คำสั่งคสช.ที่ 7/2558 และคำสั่งคสช.ที่ 17/2560 ยกเลิกพ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา
เดิมคุรุสภามีบอร์ดบริหารมีผู้แทนจากวิชาชีพครู แต่คำสั่งคสช.ที่ 7/2558 ทำให้คุรุสภาไม่มีผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพครูมาเป็นผู้แทน แต่ปรับเปลี่ยนบอร์ดใหม่ประกอบด้วย รัฐมนตรีศึกษา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารสูงสูดจาก 5 องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)
"คุรุสภา เป็นสภาแห่งเดียวในโลกที่ไม่มีตัวแทนครู เป็นสิ่งที่ครูเราไม่สบายใจที่สุด มาตั้งแต่ปี2558 เมื่อสภาวิชาชีพครูกลายเป็นสภาขุนนางและสภาระดับสูง เพราะร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ไม่มีการเปลี่ยนคำสั่งคสช."
2.มาตรา 40 วรรค2 ว่าด้วยเงินค่าตอบแทนวิทยฐานะ ทำให้บุคลากรในเขตพื้นที่การศึกษาจะไม่ได้รับเงินวิทยฐานะ ประกอบด้วยผอ.เขตพื้นที่การศึกษา รองผอ.เขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศน์ ทำให้ค้างคาใจเนื่องจากเป็นสิทธิที่เคยได้รับมาก่อนแต่ในร่างพ.ร.บ.การศึกษา ไม่มีการแก้ไขให้กลับมาเหมือนเดิม อีกทั้งไม่รับรับฟังเสียงท้วงติงจากครูในเรื่องนี้
3.มาตรา 42 เกี่ยวกับคำสั่งคสช.เป็นการออกแบบสภาวิชาชีพครูใหม่ เดิมคุรุสภาเป็นสภาวิชาชีพ แต่เปลี่ยนใหม่ให้คุรุสภาเป็นองค์กรของครู เมื่อกฏหมายแม่ออกมาแบบนี้ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ตกไป
4.มาตรา106 ว่าด้วยการให้อำนาจ รัฐมนตรี ปลัดศธ. เป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการกระทรวงศึกษาฯ หมายความว่า จะใช้ระบบการสั่งการจากบนลงล่าง หรือ "ซิงเกิลคอมมานต์" ย้อนแย้งกับโลกความจริงที่เปลี่ยนแปลงไปมากหลังวิกฤติโควิด-19
"ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ต้องมีอิสระทางวิชาการหากมีการสั่งการแบบซิงเกิลคอมมานต์ก็เหมือนครูถูกครอบงำ อย่าลืมว่าปัจจุบันครูอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)บริหารการศึกษาในรูปแบบคณะกรรมการซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ล้อตามรัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นที่มาของครูทั้งแผ่นดินลุกฮือแต่งชุดดำเพื่อไว้อาลัยร่างพ.ร.บ.การศึกษา เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.จนถึงวันครู16 มกราคมนี้"
“ผมขอวิงวอน นายกรัฐมนตรี โปรดเมตตาเด็ก และประชาชน ขอให้หยุดร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับคสช. เพราะของขวัญวันครูชิ้นนี้ครูทั้งแผ่นดินกว่า 6.6 แสนคนไม่ต้องการ”
ทั้งนี้ การรวมพลังแต่งชุดดำของครูบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศในครั้งนี้ เป็นการแสดงออกอย่างสงบ อหิสา ตามสิทธิ เสรีภาพที่พึงกระทำได้ตามบทบัญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นการส่งพลังใจของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งสี่ภูมิภาคทั่วประเทศ