ข่าว

'กนก' แนะ7 เทคนิคการสอน"วันครู"หน้าที่ครู แต่ พ.ร.บ.การศึกษาไม่ตอบโจทย์

'กนก' แนะ7 เทคนิคการสอน"วันครู"หน้าที่ครู แต่ พ.ร.บ.การศึกษาไม่ตอบโจทย์

16 ม.ค. 2566

ศ.ดร.กนก แนะเคล็ด(ไม่)ลับ 7 เทคนิคการสอน วันครู หน้าที่ครู พึงมีคุณค่าและความหมายของ"วันครู" เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของครู ไม่ใช่จากการเรียกร้องของครู ชี้ร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ไม่ตอบโจทย์แ้กไขปัญหาประเทศ

วันที่ 16 มกราคม 2566 ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน นักวิชาการด้านการศึกษา ระดับแถวหน้าของไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว กนก วงษ์ตระหง่าน (Kanok Wongtrangan) ใจความว่า

 

“วันครู หน้าที่ครู”

วันครูคือวันสำคัญสำหรับวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนไทย ครูเปรียบเสมือน”ปูชนียบุคคล”เพราะคุณค่าการปฏิบัติหน้าที่การสอนที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ของนักเรียน

 

วันครูมีคุณค่าและความหมายเมื่อนักเรียนได้รับประโยชน์และเห็นคุณค่าของการสอนของครู

 

ดังนั้นวันครูจึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่ครูจะทบทวนการปฏิบัติหน้าที่การสอนของตน เพื่อให้ครูเป็น”ปูชนียบุคคล”จริงตามที่ปรากฏในวัฒนธรรมไทย

 

หน้าที่สำคัญของครู คือ”การสอน” ประเด็นการคิดทบทวนคือการสอนอย่างไรที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ของนักเรียน (การคิดวิเคราะห์เป็น และปฏิบัติได้) และทำให้ครูภาคภูมิใจใน”วิชาชีพครู”ของตนเองได้

 

1) การสอนที่ดีต้องเริ่มต้นจากการรู้จัก”ตัวนักเรียน” เช่น วิถีชีวิต ครอบครัว ชุมชนที่นักเรียนและโรงเรียนตั้งอยู่ จนถึงข้อจำกัดและความสนใจของนักเรียน เมื่อครูนำความรู้เกี่ยวกับตัวนักเรียนไปออกแบบการสอนและจัดการชั้นเรียน และเมื่อการสอนผูกโยงสาระวิชากับชีวิตจริงและความสนใจของนักเรียน ความสนใจอยากเรียนรู้ของนักเรียนจะเกิดขึ้น

 

2) การสอนที่ดีต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 เรื่อง คือ 2.1)การกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้, 2.2)การประเมินผล, และ 2.3)กิจกรรมการสอนและการเรียนรู้ การออกแบบการสอนสู่การเรียนรู้ต้องชัดเจนทั้ง 3 เรื่อง

 

3) การสอนที่ดีต้องกำหนดความคาดหวังต่อการเรียนรู้ของนักเรียนให้ชัดเจน โดยเฉพาะวัตถุประสงค์, แนวทางการเรียนรู้, และการประเมินผลกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ความชัดเจนนี้จะช่วยให้ทั้งครูและนักเรียนสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้และสัมพันธ์สอดคล้องกัน

\'กนก\' แนะ7 เทคนิคการสอน\"วันครู\"หน้าที่ครู แต่ พ.ร.บ.การศึกษาไม่ตอบโจทย์

\'กนก\' แนะ7 เทคนิคการสอน\"วันครู\"หน้าที่ครู แต่ พ.ร.บ.การศึกษาไม่ตอบโจทย์

4) การสอนที่ดีต้องกำหนดลำดับความสำคัญของความรู้และทักษะปฏิบัติที่ต้องการให้นักเรียนเรียนรู้และปฏิบัติได้ การใส่สาระความรู้และทักษะปฏิบัติที่มากจนนักเรียนไม่สามารถเรียนรู้และปฏิบัติได้ในกรอบเวลาที่กำหนด ถือเป็นการสอนตามความต้องการของครู ไม่ใช่ประโยชน์การเรียนรู้ของนักเรียน

 

5) การสอนที่ดีต้องไม่คิดเอาเองว่า นักเรียนจะเข้าใจสาระความรู้และสามารถปฏิบัติทักษะนั้นได้ตามที่ครูเข้าใจและปฏิบัติได้ ครูจำเป็นต้องแยกแยะสาระความรู้และทักษะปฏิบัติออกเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน และให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติตามขั้นตอนนั้นได้

 

6) การสอนที่ดีต้องปรับแนวทางและวิธีการสอนให้เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น การท้าทายให้คิดวิเคราะห์,การอธิบาย, การค้นหาทางเลือกใหม่ๆ จนถึงการแนะนำ, การกำหนดกรอบแนวทาง, การสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนในรูปแบบที่เหมาะสมกับความเป็นจริงของนักเรียนและชั้นเรียน

 

7) การสอนที่ดีต้องรับฟังการสะท้อนผลจากเพื่อนครูและนักเรียน การคิดทบทวนของครูเอง เพื่อแก้ไขปัญหาและจุดอ่อนของการสอนที่ผ่านมา และนำไปสู่การพัฒนาสาระความรู้ ทักษะปฏิบัติที่ต้องการสอน จนถึงวิธีการสอนให้เกิดผลสำเร็จมากขึ้น การสอนที่ดีที่สุดไม่มี เพราะนักเรียนแต่ละคน แต่ละรุ่นเปลี่ยนไป ไม่เหมือนกัน ครูจึงจำเป็นต้องปรับวิธีการสอนและพัฒนาการสอนของตนตลอดเวลา

 

ผมเชื่อว่าถ้าครูสามารถปฏิบัติหน้าที่การสอนทั้ง 7 ประการนี้ด้วย”จิตใจ”ที่รักและปรารถนาดีต่อนักเรียน คุณค่าและประโยชน์จากการสอนของครูจะเกิดขึ้นกับนักเรียน เมื่อนั้น”วันครู”จะมีคุณค่าและความหมายต่อนักเรียนและสังคมไทย

คุณค่าและความหมายของ”วันครู” เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของครู ไม่ใช่จากการเรียกร้องของครู

 

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน  นักวิชาการศึกษา สมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ “คมชัดลึกออนไลน์”ว่า วันครู หน้าที่ครูทั้ง 7 ข้อนี้ หากพิจารณาตาม ร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ จะไม่ตอบโจทย์ทั้ง 7 ข้อนี้เลย เพราะไม่มีส่วนไหนให้เรามั่นใจได้เลย อันนี้คือปัญหาของพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับนี้ และสรุปได้ดังนี้ 

 

ประเด็นแรก มุ่งเน้นประเด็นการบริหารจัดการสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับครูเป็นหลัก ส่วนลักษณะเป้าหมาย วัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา เป็นการพูดกว้างๆ ครอบคลุมทุกเรื่อง แต่ไม่มีวิธีการ และกลไก ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์กับนักเรียน  

 

ประเด็นที่ 2 ร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับนี้ เป็นการพูดถึงการศึกษาที่จบในตัวเอง ไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ แต่การศึกษาที่แท้ขจริงต้องตอบโจทย์ประเทศชาติด้วย นั่นคือ ปัญหาประเทศคือ ปัญหาความไม่รู้ของคน และความยากจนของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนฐานราก ซึ่งการศึกษาเฉพาะนี้ไม่ตอบโจทย์เลย

 

“ความคาดหวังที่จะเห็นร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับนี้ จะแก้ไขปัญหาประเทศ จึงไม่มี ผมคิดว่าพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับนี้จะต้องกลับไปทบทวนใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดประโยชที่เป็นรูปธรรมใน4 เรื่องใหญ่นี้ 1.คุณภาพของนักเรียน 2.การแก้ไขความไม่รู้ของคนไทยในประเทศ 3. การแก้ไขปัญหาความยากจน 4. การแก้ไขปัญหาความเหลื่อม”ศ.ดร.กนก กล่าวทิ้งท้าย

การศึกษา ต้องแก้ปัญหาประเทศ

การศึกษา ต้องแก้ปัญหาความไม่รู้ประชาชนในประเทศ