8ปีที่“ครูไทย”ต้องแบก 10 สิ่งที่อยากได้ แล้วไม่ได้
รอยต่อ 8 ปีรัฐบาลประยุทธ์ ปัญหาครู ที่ต้องแบก 10 สิ่งที่อยากได้แล้วไม่ได้ อีกทั้งพบว่าปัญหาหนี้สิน ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ทับถมซ้ำซาก ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน สำหรับ“ครูไทย”
8 ปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดการปรับเปลี่ยนด้านการศกึษา มาอย่างมากมาย โดยเฉพาะช่วงรอยต่อ ก่อนเกิดการรัฐประหาร เชื่อมต่อกับรัฐบาลหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พบว่า “ครูไทย” ต้องเผชิญกับปัญหาที่รอคอยการแก้ไขมายาวนาน “คมชัดลึกออนไลน์” สรุปมาให้
8ปีที่“ครูไทย”ต้องแบก 10 สิ่งที่อยากได้แล้วไม่ได้ ดังนี้
1.ครูไม่ครบชั้นเรียน ปัญหาครูไม่ครบชั้นเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้ครูต้องรับภาระในการจัดการเรียนการสอนหลายชั้นเรียน ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาเนื่องจากมีภาระในการจัดการเรียนการสอนหลายสาระหลายชั้น
2.ภาระงานล้นมือ ปัญหาภาระงานล้นมือ ครูมีงานที่ได้รับมอบหมายจาก โรงเรียน ต้นสังกัด หน่วยงานต่างๆนอกเหนือจากการจัดการเรียนการสอนเป็นสิ่งที่ครูต้องใช้เวลาในการทำนอกเหนือจาก การจัดการเรียนการสอนต่อนักทำให้ครูต้องใช้เวลา สูญเสียไปกับการทำงานที่ไม่ใช่การเรียนการสอนแทนที่จะใช้เวลาในการผลิตสื่อจะทำแผนการเรียนรู้ต้องมาเสียเวลาในการทำงานอย่างอื่น
3.ต้องทำงานแทนภารโรง ปัญหาครูต้องทำหน้าที่ดูแลอาคารสถานที่เปิดปิดห้องเรียนแทนนักการภารโรงเนื่องจากไม่มีภารโรงประจำโรงเรียนตำแหน่งนักการภารโรงเมื่อเกษียณอายุราชการแล้วถูกตัดตำแหน่งทำให้เป็นปัญหาที่ครูต้องทำทุกอย่างแทนภารโรง
4.ต้องเป็นการเงิน-พัสดุ ปัญหาครูต้องทำหน้าที่เป็นครูการเงิน ครูพัสดุเนื่องจากขาดบุคลากรที่ทำหน้าที่นี้โดยตรง ครูต้องทำงานเอกสารการเงินพัสดุเป็นภาระงานที่ทำให้ครูต้องใช้เวลาในการทำงานเหล่านี้เบียดบังเวลาการทำการหน้าที่การเรียนการสอนเพื่อเด็กอย่างแท้จริง
5.ไม่มีตัวแทนครูในอ.ก.ค.ศ.เขต ปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมในการบริหารงานบุคคล ในระดับเขตพื้นที่เนื่องจากไม่ อ.ก.ค.ศ. เขต ซึ่งในกศจ. ก็ไม่มีผู้แทนผู้ประกอบวิชาอาชีพครูสายผู้สอนไปเป็นคณะกรรมการพอทวงคืนได้อ.ก.ค.ศ เขตพื้นที่กลับคืนมา แทนที่จะใช้หลักประชาธิปไตยในการเลือกตั้งผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพเข้าไปนั่งเป็นคณะกลับได้รับใช้วิธีการสรรหาเสนอชื่อซึ่งขัดกับหลักการมีส่วนร่วม
6.ไม่มีตัวแทนครูในบอร์ดคุรุสภา ขาดการ มีส่วนร่วมในการบริหารสภาวิชาชีพหรือคุรุสภาเนื่องจากถูกคำสั่งที่ 7/2558 ยึดสภาครูไปไม่มีผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการคุรุสภาตามเจตนารมณ์พ.ร.บ.สภาครูปี 2546
7.ขาดขวัญกำลังใจ ในความก้าวหน้าทางวิชาชีพเนื่องจาก ก.ค.ศ.ปรับเปลี่ยนเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะอยู่บ่อยๆจนทำให้เป็นภาระที่ครูต้องทำงานให้ตรงตามหลักเกณฑ์ใหม่ๆ เนื่องจาก ก.ค.ศ.ไม่มีผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพครูไปเป็นคณะกรรมการเพื่อ มีส่วนร่วมในการออกหลักเกณฑ์
8.เข้าไม่ถึงสวัสดิการ ครูไม่ได้รับการดูแล ด้านสวัสดีการและสวัสดิภาพของครูจากหน่วยงานในสำนักงานสกสค.จังหวัด ผอ.สกสค.จังหวัดไม่ใช่คนในพื้นที่ทำให้การบริหารจัดการในการดูแลสวัสดีการสวัสดีภาพครูไม่เต็มที่ทำเช่นครูมีปัญหาในเรื่องเงินกู้ช.พ.ค.โครงการต่างๆก็ไม่ติดตามแก้ปัญหาให้เท่าที่ควร
9.ต้องทอดผ้าป่าการศึกษา ครูต้องมีภาระในการจัดกิจกรรมระดมทรัพยากร เช่นทอดผ้าป่า ทอดกฐินฯลฯ เพื่อนำเงินมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเนื่องจากโรงเรียนได้รับงบประมาณจากรัฐไม่เพียงพอ
10.ยกเลิกคำสั่งคสช.เกี่ยวกับครู สิ่งที่ครูเรียกร้องต้องการก็คือยกเลิกคำสั่งคสช.ฉบับต่างๆที่เกี่ยวข้องกับครูและการศึกษา
เหนืออื่นใด พบว่าปัญหาหนี้สินครู ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ทับถมซ้ำซากต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน สำหรับ“ครูไทย”จนไม่มีใจอยากจะสอน ครูไม่มีวิธีการสอนที่ดี ครูไม่มีความภาคภูมิใจในวิชาชีพของตน ฯลฯ
ไม่เพียงเท่านั้น “ครู” เสนอ ให้ผู้มีอำนาจหยุดร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภา เนื่องจากไม่ฟังเสียงหรือข้อเรียกร้องของผู้ประกอบชาชีพครู ผู้ปกครอง นักเรียน และ ประชาชน
ทั้งหมดที่เป็นปัญหา 8ปีที่“ครู”ต้องแบกภาระเหล่านี้เอาไว้ รอวันเวลาที่จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และจริงใจ