ข่าว

"ตัวตึง" ใน "มหาวิทยาลัย" อาจจะเป็น ตลกร้าย ทางการศึกษาไทย

"ตัวตึง" ใน "มหาวิทยาลัย" อาจจะเป็น ตลกร้าย ทางการศึกษาไทย

19 ม.ค. 2566

"ตัวตึง" ใน "มหาวิทยาลัย" อาจจะกลายเป็น ตลกร้าย ทางการศึกษาไทย ถึงแม้มียุทธศาสตร์การยกระดับการศึกษาที่ดี หรือ มีแผนพัฒนาการศึกษาต่างๆดี คงหนีไม่พ้นวิธีคิดแบบ อภิมนุษย์

 โลกโซเชียลออนไลน์ให้ความหมาย “ตัวตึง” ไว้ว่า เป็นบุคคลที่มีความสามารถ พิเศษมีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองจนกลายเป็นไวรัลในเชิงวีรกรรมหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน และบางครั้งก็ไม่อยากให้มีใครลอกเลียนแบบ บางครั้งก็ดูเป็นตัวตลกให้ความบันเทิงกับผู้พบเห็นได้ เช่น ตัวตึงระยอง หรือ ตัวตึงเยาวราช

      

แวะเวียนมาดูในแวดวงการศึกษาระดับอุดมศึกษา พบว่า มหาวิทยาลัย มีบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง “นายกสภามหาวิทยาลัย” ที่มากด้วยความสามารถ และ บารมี  มีอิทธิพลต่อวงการศึกษาอย่างยิ่ง ยังทำหน้าที่เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมากกว่า 2 แห่ง

 

ปรับเปลี่ยนแปลงโฉมมหาวิทยาลัยอยู่ 4 ปีกว่าๆเป็นประธานคณะกรรมการและอนุกรรมการต่างๆมากกว่า 10 คณะเสมือนเป็น “อธิการบดี” ตัวจริง อุทิศกำลังกายและกำลังใจถึงแม้ว่างานยังไม่สำเร็จยังต้องทำต่อไปอีกเรื่อยๆ สรรหากี่ครั้งก็กลับเข้ามา ได้ชื่อว่ามากบารมีทางการศึกษาระดับประเทศ เป็นคนเดียวที่เป็น “ตัวตึง

 

จัดได้ว่าเป็นอธิการบดีผู้ก่อตั้ง ทั้งระบบทางไกลและทางใกล้หลายแห่ง เรียกได้ว่าเป็น“ตัวตึงระดับตำนาน”ในวงการศึกษา เป็นนายกสมาคมทางการศึกษาต่างๆแบบภาคี แบบสหกิจสัมพันธ์มากมายแต่สถานที่สมาคมตั้งอยู่ที่เดียวกันหมด ระดมนักวิชาการค่ายต่างๆทั่วฟ้าเมืองไทยมาทำงาน รับงาน หาประโยชน์ร่วมกันแบ่งเป็นทีมเฉพาะทางต่างๆ 

 

ว่ากันว่า รับงานทั้งในและนอก มหาวิทยลัย ที่เป็นนายกสภา ไม่คำนึงถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน โดยไม่สนใจเรื่องหลักธรรมาภิบาลหรือประเพณีความรับผิดชอบที่งดงาม มีคุณธรรมที่สภามหาวิทยาลัยพึงต้องปฏิบัติ

 

ปรากฏการณ์ภาพลักษณ์ดูไม่ดีแบบนี้ สอดคล้องกับแนวความคิดที่เรียกว่า อภิมนุษย์ของนิทเช่ นักปราชญ์ชาวเยอรมัน ที่ให้ความสำคัญเรื่องกิเลสและอำนาจในตนเองว่าเป็นแรงผลักดัน ทำให้มนุษย์พัฒนาชีวิตได้ หากปราศจากกิเลสแล้วชีวิตมนุษย์ย่อมไร้ความหมาย

 

อภิมนุษย์” หรือ the overman -superman คือ ผู้ที่มีบุคลิกภาพแข็งแกร่งย่อมมีแนวทางชีวิตเป็นของตนเอง โดยมุ่งไปสู่ความเป็นอภิมนุษย์ 

 

ดังนั้นแล้วการเดินตามประเพณีเป็นวิธีเลี่ยงความรับผิดชอบ เป็นวิธีการของคนอ่อนแอ คนพวกนี้ไม่มีโอกาสจะก้าวหน้าไปสู่ความเป็น “อภิมนุษย์” แต่อาจจะเป็นเพียงเครื่องมือของคนที่มีบุคลิกเข้มแข็ง

 

เมื่อสภาวะนี้เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยที่อุดมปัญญา ที่ควรเป็นต้นแบบแห่งความคาดหวัง กลับกลายเป็นว่าวงการครูบาอาจารย์หากแต่กำลังกลายเป็นเครื่องมือของ“อภิมนุษย์”โดยไม่รู้ตัว และที่เลวร้ายกว่าคือ ถึงแม้รู้ตัวแล้วก็ยังยินยอมรับใช้ ร่วมกันกระทำผิดเสมือนมีนายทาสที่ต้องจงรักภักดี

 

“ตัวตึง” ในมหาวิทยาลัย อาจจะกลายเป็นตลกร้ายทางการศึกษาไทย ถึงแม้จะมียุทธศาสตร์การยกระดับการศึกษาก็ดีหรือแผนพัฒนาการศึกษาต่างๆก็ดี คงหนีไม่พ้นวิธีคิดแบบ “อภิมนุษย์”

 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กอนุบาลฟันน้ำนมร้องเพลง “ทรงอย่างแบด" ดูน่ารักและไร้เดียงสา ดูเหมือนมีความหมายสะท้อนถึงตัวตึงในมหาวิทยาลัย จะได้เห็น “อภิมนุษย์” ทางการศึกษา เป็นตัวตึงอย่างไร้เทียมทาน และรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯ ช่วยมาแก้ไขด่วน!