พิรุธ“ร่างพ.ร.บ.การศึกษา”จ่อล้ม บวร ฟื้น คำสั่งคสช.ที่ 19/2560 เพื่อใคร?
จับพิรุธ “ร่างพ.ร.บ.การศึกษา” มาตรา15 ตัดโรงเรียนออกจากสังคม จ่อล้ม บวร ให้อำนาจล้นเหลือกับ บอร์ดสถานศึกษา สุ่มเสี่ยงจัดการศึกษาล้มเหลว ชี้ฟื้น คำสั่งคสช.ที่ 19 /2560 รวมศูนย์อำนาจ สั่งการแบบ ซิงเกิล คอมมานต์ ทั้งหมดนี้เพื่อใคร?
เกาะติดร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ใช้เวลาในการดำเนินการยาวนานถึง 5 ปี แต่ยังไปไม่ถึงไหน ด้วยเนื้อหาสาระของกฏหมายฉบับนี้ มีนัยยะซุกซ่อนเอาไว้ ไม่ชัดเจนว่าร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ เมื่อประกาศใช้แล้วจะเกิดผลดีกับการศึกษาไทย เด็กนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จะได้ประโยชน์อย่างไร ล่าสุดมีข้อกังวลใจในหลายมาตรา
ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นักการศึกษาอิสระ นักกฏหมายด้านการศึกษา และ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา (ส.พ.บ.ค.) ให้สัมภาษณ์ “คมชัดลึกออนไลน์” ว่า พบพิรุธในร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ ในหลายมาตรา พอสรุปได้ดังนี้
1.ไม่พบแนวทางในหรือสื่อให้เห็นว่าการจัดการศึกษาว่าจะเป็นอย่างไร จึงไม่มีเส้นทางสำหรับการสานต่อของกฎหมายลูก ในขณะที่ พ.ร.บ.การศึกษาฯปี 2542 กำหนดให้มีเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานเขตพื้นท่ีการศึกษา
2. คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ มีผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจและมีประสบการณ์ด้านการศึกษาเพียงรายเดียวคือปลัด ศธ. นอกนั้นอีก 9 คน ไม่มีใครมีความรู้ ความเข้าใจและมีประสบการณ์ด้านการศึกษา (มาตรา 88)
3. ให้อำนาจคณะกรรมการสถานศึกษา
- บริหารงานบุคคลในสถานศึกษา (มาตรา 35วรรค3)
- สรรหาผู้บริหารสถานศึกษาเสนอผู้มีอำนาจ (มาตรา 40 วรรค 4)
- การบริหารสถานศึกษา ต้องรับฟังคณะกรรมการสถานศึกษา (มาตรา14 อนุ 5)
- กรรมการสถานศึกษาต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพสถานศึกษา (มาตรา23 )
“การให้อำนาจกรรมการสถานศึกษามากขนาดนี้ สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งในการทำให้การจัดการศึกษาล้มเหลวเพราะเป็นการมอบอนาคตทางการศึกษาไปอยู่ในมือของกรรมการสถานศึกษาซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการจัดการศึกษา ไม่ได้มีเวลาในการจัดการศึกษา ไม่มีทักษะและประสบการณ์ในการจัดการศึกษา และหากได้คนไม่ดีเข้ามาเป็นกรรมการสถานศึกษาก็จะทำให้เกิดการทุจริตในวงการศึกษาที่ไม่อาจควบคุมได้” ดร.รัชชัยย์ ตั้งข้อสังเกต
4. ไม่จัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ ทั้งๆที่เป็นยุทธศาตร์สำคัญในการจัดการศึกษาที่ครูต้องนำไปใช้เป็นแนวทาง แต่กลับให้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคดนโลยี(สสวท.) เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งๆที่ สสวท นั้น เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านวิทย์และคณิต เท่านั้น (มาตรา 105)
5. มีคำสำคัญหลายคำถูกยกเลิกโดยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้ และไม่ได้บัญญัติไว้ในนิยามศัพท์ (มาตรา 4) แต่กลับไปปรากฏในหลายมาตรา เช่น ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารการศึกษา บุคลากรทางการศึกษา จึงไม่ทราบว่าบุคคลเหล่านี้เป็นใคร มีอำนาจหน้าท่ีอย่างไร
6.ห้ามสถานศึกษา ทำกิจกรรมที่หน่วยงานราชการอื่นขอให้ช่วย หากกิจกรรมนั้นมีผลกระทบต่อการจัดการศึกษา หากฝ่าฝืนจะได้รับโทษ (มาตรา 15) กรณีนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่สถานศึกษาหลายแห่งอยู่ได้ด้วยความอุปการะของหน่วยงานอื่นทั้งเป็นราชการและไม่เป็นราชการ เช่น วัด/มูลนิธิ/โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯลฯ การปฏิเสธจะส่งผลกระทบต่อสถานศึกษาอย่างมากมายหรือไม่ ควรบัญญัติทางออกให้สถานศึกษาด้วย
“ในทางปฏิบัติ บ้าน วัด โรงเรียน หรือ บ ว ร ในสังคมไทยมีสายสัมพันธ์ยึดโยงพึ่งพากับโรงเรียนมายาวนาน การบัญญัติในร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ แบบนี้เท่ากับว่า ล้ม บวร ตัดขาด โรงเรียน หรือสถานศึกษาออกจากสังคม ที่เป็นรากเหง้าของคนไทย แล้วเด็กและเยาวชนไทยอนาคตจะเป็นอย่างไร น่าเป็นห่วงมาก”
7. มีการบัญญัติให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ปลัด ศธ.) เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการสังกัด ศธ (มาตรา 106) ดังนั้นเชื่อว่าบัญญัติไว้เพื่อกระจายอำนาจให้ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการครูในแต่และจังหวัด เป็นการฟื้นคืนคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 19 /2560 กลับคืนมา ฟื้นคืน Single Command เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาระหว่างวันที่ 24-25 ม.ค.2566 โดยเฉพาะวันที่ 24 มกราคมนี้ จะเป็นวาระพิเศษที่ให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่รัฐสภา ถนนแจ้งวํฒนะ กรุงเทพมหานคร