20 วษท. ประกาศความพร้อม เป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง”
20 วษท. ประกาศความพร้อมเป็น Change Agent "ผู้นำการเปลี่ยนแปลง" เคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำฯสู่ชุมชน คุณหญิงกัลยาปลื้ม ดัน ชลกร สู่มาตรฐานสากล สร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้ประเทศชาติ
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.) เป็นประธานเปิด โครงการสานพลังสร้างสรรค์ “ชลกร” สู่นวัตกรรมการจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ พร้อมด้วยนายสุวัฒน์ เข็มเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร นายสมปอง ทองศรี ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดยโสธร และผู้อำนวยการ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.)ทั้ง 20 แห่งทั่วประเทศ ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมาอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำ กล่าวว่า โครงการสานพลังสร้างสรรค์ “ชลกร” สู่นวัตกรรมการจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริหารของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีและวางแผนการดำเนินงานหลักสูตรชลกรอย่างเป็นระบบให้มีความสอดคล้องและต่อเนื่อง เป็นการระดมความคิดพร้อมเสนอแนวทางการพัฒนาให้สมบูรณ์และเกิดความยั่งยืนต่อไป
โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากผู้บริหารวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจำนวน 20 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ พร้อมได้ประกาศเจตนารมณ์และความพร้อมที่จะเป็นChange Agent หรือ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่จะเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำฯ ขยายผลสู่ชุมชนต่อไป ซึ่งการพัฒนาองค์ความรู้ด้านบริหารทรัพยากรน้ำถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง
เพราะวันนี้ประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งที่ถูกประเมินว่า มีความเสี่ยงในลำดับต้น ๆ ของโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยไม่มีมีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ แต่มีปัญหาเรื่องประชาชนขาดความรู้ และความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ
“รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้เป็นอีกก้าวย่างที่สำคัญของโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวประราชดำริ ได้เปิดหลักสูตรชลกร มาแล้วทั้งสิ้น 2 รุ่น รวมจำนวน 341 คน ซึ่งในปีนี้จะจบการศึกษาไปกว่า 200 คน เชื่อมั่นว่าจะนำความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในชุมชนของตัวเอง และองค์กรที่เข้าไปทำงาน ซึ่งขณะนี้มีหลายหน่วยงาน และองค์กร เช่น กทม.ที่แสดงความพร้อมและสนใจรับผู้จบหลักสูตรชลกรเข้าทำงาน”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ได้ขับเคลื่อนมาจนก้าวสู่ปีที่4สามารถขยายองค์ความรู้ทั้งทางทฤษฎี และปฏิบัติ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในระดับสากลสู่วิทยาลัยเกษตรเทคโนโลยีและประมง โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้สามารถพึ่งการจัดการน้ำโดยชุมชนเองได้เพราะเรื่อง “น้ำ” ไม่ใช่เฉพาะแต่เกษตรกรเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ แต่รวมถึงผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจประเทศก็จะได้ประโยชน์อย่างมหาศาลเช่นกัน
ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นเครือข่ายสนับสนุนตั้งแต่เริ่มขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนฯ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเยาวชนไทย หรือคนไทยมีองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำที่เป็นมาตรฐานในระดับสากลแล้วเชื่อว่าจะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติอย่างแน่นอน
ดร.ปริเวท วรรณโกวิท ผู้จัดการโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริกล่าวว่าโครงการสานพลังสร้างสรรค์ “ชลกร” สู่นวัตกรรมการจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำรินี้ เป็นโครงการอบรมระดับผู้บริหารเพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาและอุปสรรคของหลักสูตรชลกรเพื่อสร้างเสริม ต่อยอด และพัฒนาให้เกิดคุณภาพใหม่ ซึ่งโครงการนี้นับว่าประสบความสำเร็จเพราะได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากผู้บริหารวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จำนวน 20 แห่ง มาประกาศความพร้อมร่วมกันที่จะเป็น Change Agent ในการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำฯ ขยายผลสู่ชุมชน โดยผู้เข้าสัมมาได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อความยั่งยืนของหลักสูตรชลกรที่จะทำร่วมกัน อาทิ สร้างศูนย์การเรียนรู้ชลกรต้นแบบ การจัดทำหนังสือประกอบการเรียนการสอน